นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า "จากภาวะเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้"
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560
(ตุลาคม 2559 – เมษายน 2560) และเดือนเมษายน 2560
1. ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 – เมษายน 2560)
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิหลังหักการจัดสรร อปท. จำนวน 1,223,594 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,946 ล้านบาทหรือร้อยละ 0.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.0) โดยเป็นการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น และ กรมสรรพสามิต รวมทั้งการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่สูงกว่าประมาณการ อย่างไรก็ดี เนื่องจากในช่วงเดียวกัน ปีที่แล้วมีรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม (3G และ 4G) ทำให้ ผลการจัดเก็บรายได้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว หากไม่รวมรายได้ดังกล่าว การจัดเก็บรายได้ในปีนี้จะมีการขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
1.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 867,724 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 21,108 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.4 แต่ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 19,524 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.3 โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่
1.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 327,042 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,540 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.6) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย ได้แก่ภาษีน้ำมัน จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 10,699 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.3 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันเบนซินที่สูงกว่าประมาณการ การปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น และการจัดเก็บภาษีน้ำมันหล่อลื่น นอกจากนี้ภาษีเบียร์ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3,447 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.9
1.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 59,836 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 10,664 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.1 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.2) โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าป้าหมายจำนวน 11,489 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.6 เนื่องจากการใช้สิทธิพิเศษภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากร ระยะที่ 2 ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2560 ขยายตัวร้อยละ 10.5 และร้อยละ 8.8 ตามลำดับ
1.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 96,304 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8,349 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 13.3) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำส่งรายได้ที่ค้างนำส่งจากปีก่อนหน้า โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 5 อันดับแรก ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โรงงานยาสูบ และการท่าเรือแห่งประเทศไทย
1.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 109,231 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 25,475 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 33.1) สาเหตุสำคัญมาจากการรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) เป็นรายได้แผ่นดิน การนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียน และการนำส่งเงินเหลือจ่ายประจำปี 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 5,915 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 795 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.5(สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 21.3) โดยเป็นผลมาจากรายได้จากที่ราชพัสดุ และจากการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ
1.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 177,564 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 358 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.2 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 122,136 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 20,164 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.2 และการคืนภาษีอื่น ๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 55,428 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 20,522 ล้านบาท หรือร้อยละ 58.8
1.7 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 5,632 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 458 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.5
1.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 8,891 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,145 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.4
1.9 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 9,091 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 434 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.6
1.10 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 4 งวด เป็นเงิน 35,365 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 325 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.9
2. เดือนเมษายน 2560
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 181,571 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,392 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.4 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.6) เป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ที่ต่ำกว่าประมาณการ 8,049 2,484 และ 2,329 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.2 4.9 และ 24.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 6,253 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 25.9) และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ 328 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 128.5)
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3573