นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2560 ว่า"เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนเมษายน 2560 ขยายตัวต่อเนื่อง นำโดย ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน รวมถึงการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการเกษตรและการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีการบริโภคภาคเอกชน ภาคเกษตร และภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 11.4 และ 40.7 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตรกร และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ โดยในเดือนเมษายน ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 23.9 ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนของผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน โดยขยายตัวร้อยละ 10.9 และร้อยละ 7.7 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวของทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ สอดคล้องกับภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากการขยายตัวของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ยางพารา และกุ้งขาว ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2560 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมีนาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ภาคเกษตร และการท่องเที่ยว เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อย สะท้อนจากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 10.9 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตร เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 และ 5.5 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในอัตราเร่งทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนที่ร้อยละ 14.4 และ 25.3 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวของทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เช่นเดียวกันกับภาคเกษตรที่ขยายตัวได้ดี จากการขยายตัวของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรม มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนเมษายนที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 105.0 ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2560 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนมีนาคม อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน จากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 7.9 และ 12.3 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่และเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรม ในเดือนเมษายน ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 10.8 และ 375.5 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน โดยขยายตัวที่ร้อยละ 10.1 และ 11.8 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวของทั้งจำนวนและรายได้ของนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2560 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมีนาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน และภาคการเกษตรเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 5.2 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 12.8 และ 22.2 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตรกร สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน ขยายตัวร้อยละ 6.1 สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง จากผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวในอัตราเร่ง ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ข้าว ข้าวโพด อ้อยโรงงาน และสุกร เป็นต้น ในขณะที่ด้านภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้จากจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนชาวไทย ในขณะที่จำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนชาวต่างประเทศยังคงทรงตัว สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2560 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมีนาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ภาคเกษตร และการท่องเที่ยว เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 8.5 ต่อปี ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตรกร และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน ขยายตัวร้อยละ 4.3 และ 7.4 ต่อปี ตามลำดับ ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี สอดคล้องกับภาคเกษตรที่ขยายตัวได้ดี ตามการขยายตัวของผลผลิตสำคัญ อาทิ ข้าวเปลือก และสินค้าประมง เป็นต้น ส่วนด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2560 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมีนาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวเป็นหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน จากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 10.3 และ 18.5 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตรกร และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน จากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัวร้อยละ 11.5 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทานขยายตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนที่ร้อยละ 2.5 และ 3.2 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวของทั้งจำนวนและรายได้ของนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2560 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมีนาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันตก เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวเป็นหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 16.4 และ 11.2 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตร และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนที่ร้อยละ 11.1 และ 21.7 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวของทั้งจำนวนและรายได้ของนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2560 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมีนาคมอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit