นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า "แนวคิดการขับเคลื่อนประเทศไทยตามโมเดล "ประเทศไทย 4.0" ของรัฐบาลที่ผลักดันการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จาก "เพิ่มมูลค่า" ไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรม "สร้างมูลค่า" โดยใช้แนวคิด SPRING ภายใต้แนวคิดดังกล่าวมีความจำเป็นจะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาภาคเศรษฐกิจโดยการเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม การเปลี่ยนการขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและการเปลี่ยนภาคการผลิตสินค้าไปสู่ภาคบริการมากขึ้นจากการขับเคลื่อนผ่าน 3 กลไกที่สำคัญ ได้แก่การพัฒนาด้านมาตรฐาน (Standard) การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และนวัตกรรม (Innovation)เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ กลุ่มอาหาร เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะหุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว และกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทุนวัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีภารกิจสำคัญในการมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม4.0 ขับเคลื่อนด้วยปัญญาและเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ที่ผ่านมาแม้ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะมุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มเป้าหมายในลักษณะต่าง ๆ ที่หลากหลาย เช่น การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี การให้คำปรึกษาแนะนำด้านการปรับปรุงการผลิตและมาตรฐาน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ในการส่งเสริมและพัฒนาได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 2,736,744 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 99.7 ของวิสาหกิจทั้งหมดเนื่องจากผู้ประกอบการ SMEs ยังคงเผชิญกับอุปสรรคสำคัญจากปัจจัยด้านเงินลงทุน ทำให้ไม่สามารถต่อยอดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิต การขอรับรองระบบมาตรฐานต่าง ๆรวมทั้งการลงทุนเทคโนโลยีและเครื่องจักรใหม่ และการพัฒนาบุคลากรด้านการออกแบบและวิศวกรรมเพื่อรองรับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม จึงได้จัดตั้ง"กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ" เพื่อสนับสนุนให้ความช่วยเหลือเงินทุน และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SMEs มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 เห็นชอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้งกองทุนตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ในวงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยเป็นกองทุนภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียนพ.ศ. 2558 ของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจตามหลักการของ Local Economy เป็นกองทุนที่ช่วยเหลือ SMEs ที่ศักยภาพ แต่มีอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนปกติ ให้สามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจ จนมีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าสู่แหล่งเงินทุนปกติได้ ซึ่งเป็นฐานการสร้างรายได้และฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ
หลังจากที่เปิดตัวโครงการไปปรากฏว่ามีกระแสตอบรับดีมากกลุ่มผู้ประกอบการให้ความสนใจแต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ ทางกระทรวงอุตสาหกรรม จึงมอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการ "เสริมสร้างการรับรู้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐในพื้นที่นำร่อง 8 จังหวัด" ได้แก่ จังหวัดสงขลา เชียงใหม่ พิษณุโลก อุดรธานี อุบลราชธานี นครปฐม ชลบุรีและกระบี่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจ และสร้างความเชื่อมั่นแก่กลุ่มผู้ประกอบการSME สื่อมวลชน และประชาชน และสามารถขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ตามนโยบายThailand 4.0 เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจฐานราก โดยจะมีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรตามแนวประชารัฐ" ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งมีการลงพื้นที่พบปะกับผู้ประกอบการที่ได้รับการช่วยเหลือพร้อมให้คำปรึกษา และทราบถึงปัญหาอย่างใกล้ชิดนายสมชาย หาญหิรัญ กล่าวต่อไปว่า "โดยเราได้เริ่มประเดิมลงพื้นที่จังหวัดสงขลาเป็นที่แรกเนื่องจากเป็นหนึ่งในจังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทางภาคใต้ และถือเป็นจังหวัดที่มีขีดความสามารถทางการผลิตสินค้าไปยังนานาชาติ ที่ผ่านมาเราได้ ให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการหลายแห่งในจังหวัดสงขลา โดยในการลงพื้นที่ครั้งนี้เราได้เข้าไปพบกับผู้ประกอบการ 2 รายที่ได้รับเงินสินเชื่อจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ซึ่งมีคุณสมบัติตรงกับเงื่อนไขเข้ารับการช่วยเหลือ เป็นกิจการผลิตสินค้า หรือให้บริการ ค้าปลีกหรือค้าส่ง ที่เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย มีระบบบัญชีเดียวหรือจะเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว เคยหรืออยู่ระหว่างเข้าร่วมโครงการภาครัฐหรือองค์กรเอกชนที่มีลักษณะเป็นการบ่มเพาะธุรกิจใหม่ มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี และอื่น ๆ ตามที่กองทุนกำหนด ซึ่งเป็นไปตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของ Thailand 4.0 และยุทธศาสตร์ของจังหวัด โดยมีกิจการ ดังนี้
บริษัทโกรรับเบอร์ ลาเท็กซ์ จำกัด ผลิตและจำหน่ายยางรองส้นเท้ายางพารา ดำเนินงานโดย นางสาวอรฤดี เมฆตรงเป็นกรรมการผู้จัดการ ได้กล่าวถึง ความรู้สึกที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการนี้ว่า "โรงงานโกรรับเบอร์ ลาเท็กซ์ ถือว่าเป็นโรงงานระดับ Start Upที่มีขนาดเล็กและตนเองก็ยังมีอายุน้อยประสบการณ์การทำงานก็ไม่มากการที่จะเข้าหาแหล่งเงินทุนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย จะไปขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์เขาก็ยังไม่มีความมั่นใจในศักยภาพของเรา โชคดีที่เราได้รับการอบรมหลักสูตร โครงการเพิ่มมูลค่ายางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง ที่จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมทำให้เราได้มีโอกาสดีๆ โดยผลิตภัณฑ์ของเราเป็นผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยวิจัยร่วมกันระหว่างคณะแพทยศาสตร์ร่วมกันกับคณะวิศวะกรรมศาสตร์เป็นแผ่นยางรองเท้าเพื่อสุขภาพ และรองเท้าแตะที่ผลิตจากยางพาราซึ่งได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดีโดยเฉพาะลูกค้าชาวจีน และอยากจะขอบคุณโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เป็นอย่างมากที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยอย่างเรา" นางสาวอรฤดี กล่าว
อีกแห่งคือบริษัทเอ.บิล.อาร์ทอินดัสทรี จำกัด ผลิต จำหน่าย ประเก็น และวัตถุกันรั่ว สำหรับเครื่องยนต์ที่ขอกู้เพื่อจัดซื้อระบบบริหารจัดการภายในโรงงาน คุณสิริอัญญา พรสุวรรณกุล กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า "เดิมทีทางบริษัทเอ.บิล.อาร์ทอินดัสทรี ได้ทำงานวิจัยมาเยอะมากโดยใช้เงินลงทุนของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อมีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐยืนมือเข้ามาช่วยเหลือทำให้เรารู้สึกมีขวัญและกำลังใจขึ้นมาก พร้อมทั้งกำลังต้องการการพัฒนาเครื่องจักรใหม่ให้มีความทันสมัยมากขึ้น รวมถึงเปลี่ยนกระบวนการทำงานใหม่ให้เข้ากับนโยบาย 4.0ของรัฐบาล โดยเริ่มต้นจากการเข้าร่วมอบรมโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP ภูมิภาค) ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพของพนักงานเป็นอันดับแรกเพราะเชื่อว่าถ้าพนักงานมีคุณภาพสินค้าก็ย่อมมีคุณภาพตามไปด้วย ในส่วนของเครื่องจักรจึงเป็นโครงการต่อไปในอีกไม่ช้านี้ และต้องขอขอบคุณกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐที่เข้ามาให้การสนับสนุนในครั้งนี้ด้วย พร้อมทั้งอยากจะเชิญชวนผู้ประกอบการรายย่อยหรือขนาดกลางที่คิดว่ายังขาดความพร้อม หรือมีปัญหาให้ลองเข้ามาปรึกษากับศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี ดูเชื่อว่าจะได้รับความช่วยเหลือแบบจริงจังอย่างที่เราได้รับมาแล้ว"
ซึ่งทั้งสองบริษัทมีความตั้งใจที่จะพัฒนาต่อยอดธุรกิจตนเองให้มีศักยภาพ แต่มีข้อจำกัดในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงได้ผ่านกระบวนการพัฒนาจากโครงการภาครัฐ เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น จากความตั้งใจดังกล่าวกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐจึงได้ให้ความดูแลและช่วยเหลือเพื่อให้ธุรกิจทั้ง 2 รายนี้ก้าวต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งหลังจากนี้ทางกระทรวงจะได้เร่งขยายผลและเตรียมเข้าไปช่วยเหลือในจังหวัดสงขลา และพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทุกสาขา และศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี www.smessrc.com หรือ Call Center 1358
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit