สคร.10 อุบลฯ เตือนระวังไข้เลือดออก-โรคฉี่หนู

30 May 2017
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี เตือน ประชาชนช่วงฝนตกต่อเนื่อง โรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ โรคไข้เลือดออกและโรคฉี่หนูหรือเลปโตสไปโรซิส ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรคของกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. – 28 พ.ค. 60 ในพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัดของสำนักงานฯ ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญและมุกดาหาร พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 609 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต และผู้ป่วยโรคฉี่หนู 139 ราย เสียชีวิต 1 ราย
สคร.10 อุบลฯ เตือนระวังไข้เลือดออก-โรคฉี่หนู

นางศุภศรัย สง่าวงศ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.10) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และทำให้ยุงลายมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ช่วงนี้มีผู้ป่วยโรคที่มาจากยุงลายเพิ่มจำนวนขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกที่พบผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน จึงขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อมใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.การป้องกันการถูกยุงกัด โดยทายากันยุง นอนในมุ้ง กำจัดยุงตัวเต็มวัยด้วยสเปรย์ ไม้ช็อตไฟฟ้า พร้อมกำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในภาชนะน้ำใส นิ่ง 2.การเฝ้าระวังอาการของโรค ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าแดง ผิวหนังเป็นจุดเลือด อาเจียน ปวดท้อง และ 3.การไปพบแพทย์เร็วเมื่อป่วยและมีไข้สูง เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรค และเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงไข้ลดหากเกิดอาการช็อกจากไข้เลือดออก ต้องรีบกลับไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หากช้าอาจทำให้เสียชีวิตได้ รวมทั้งใช้มาตรการ "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

นางศุภศรัย กล่าวต่ออีกว่า เกษตรกรที่เริ่มทำไร่ ทำนา ในช่วงนี้ ขอให้ระวังโรคฉี่หนูหรือเลปโตสไปโรซิส ซึ่งโรคนี้มีสาเหตุมาจากหนู โดยเชื้อโรคซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียจะอยู่ในฉี่ของหนู หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น วัว ควาย สุนัข แมว ที่ปนเปื้อนอยู่ตามแหล่งน้ำขังชื้นแฉะทั่วไป เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยการเข้าทางบาดแผลหรือเยื่อบุอ่อนๆของร่างกาย เช่น ง่ามมือ ง่ามเท้า ตา ขณะที่แช่น้ำ หรือการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดมีเชื้อโรคปนเปื้อนในอาหารนั้นๆ มักพบติดเชื้อขณะทำนา ทำสวน ระหว่างการจับปลา หรือจับหนูในนา วิธีการป้องกันตนเองเบื้องต้นเกษตรกรควรสวมใส่รองเท้าบูทเมื่อลง แช่น้ำ และหลังเสร็จภารกิจหรือขึ้นจากน้ำให้รีบล้างมือ ล้างเท้า ด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลตามร่างกาย

ทั้งนี้ หากประชาชนเริ่มมีอาการ ไข้เฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยเฉพาะหลัง ต้นขาและน่อง ปวดศีรษะ ตาแดง คลื่นไส้ และปวดท้อง ให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้ทราบด้วย เนื่องจากโรคนี้มียารักษาหายขาด หากไม่รีบรักษาและปล่อยไว้นานจนอาการมากขึ้นเช่น ไอเป็นเลือด ตัวเหลือง อาจเสียชีวิตจากไตวาย ตับวายได้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 /นางศุภศรัย กล่าวปิดท้าย

HTML::image( HTML::image(