ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ณ ห้องประชุมสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาถึงยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลที่จะส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนในพื้นที่การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จะเร่งดำเนินการใน 2 ด้านหลัก ประกอบด้วย ด้านแรก สร้างกำลังคนดิจิทัล จำนวน 2,000 คน เพื่อรองรับนักลงทุนในพื้นที่ EEC โดยแบ่งออกเป็น
(1) สร้างความเข้มแข็งภายใน ด้วยการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้กับกำลังคนดิจิทัลไทย มี 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการจับคู่ธุรกิจดิจิทัล เปิดบ้านรับนักเรียนอาชีวะเข้าทำงานระหว่างเรียน (Work Integrated Learning: WIL) และ 2) จัดตั้งสถาบันพิเศษเฉพาะทางด้านดิจิทัล โดยจะดึงสถาบันชั้นนำระดับโลกจับคู่กับมหาวิทยาลัยในประเทศ สร้างหลักสูตรระยะสั้น สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลระดับสูง (High Skill Professional) ของอาเซียน โดยมุ่งเน้นกลุ่มโปรแกรมเมอร์ คนทำงานด้านดิจิทัลทั้งไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบ CLMV เพื่อมุ่งเน้นให้ไทยเป็นศูนย์พัฒนาทักษะดิจิทัลขั้นสูงของอาเซียน
(2) เสริมความแข็งแกร่งจากภายนอก ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าประเทศไทยขาดแคลนกำลังคนดิจิทัล เป็นจำนวนมาก ทั้งระดับกลาง และระดับสูง กระทรวงดิจิทัลฯ จึงได้มีแนวคิดที่จะนำผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยวีซ่าท่องเที่ยว (Digital Nomad) เข้าสู่ระบบกำลังคนดิจิทัลของกระทรวงฯ เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นให้กับนักลงทุนในพื้นที่ EEC โดยผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจ Digital Startup ของต่างประเทศ ที่เข้ามาทำธุรกิจแบบไม่มีใบอนุญาตในไทย ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบประเทศอื่นเรื่องของการท่องเที่ยว ปัจจุบันเชียงใหม่ติดอันดับ 1 - 3 ของโลก ที่ Digital Nomad นิยมเข้ามาทำงานและใช้ชีวิตในเมืองไทย กระทรวงฯ จึงได้ตั้งกลไกการตรวจรับรองผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล โดยมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) ดำเนินการเรื่องหลักเกณฑ์ของการตรวจรับรองผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล และให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลจัดทำฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้สามารถเปลี่ยนวีซ่าเป็นประเภทผู้เชี่ยวชาญและทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งจับคู่กับนักลงทุนที่ต้องการ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหากำลังคนดิจิทัลระยะสั้นพร้อมๆ กับนำเงินรายได้ส่วนหนึ่งเข้าประเทศ จากที่ประเทศไทยไม่เคยมีรายได้ในส่วนนี้ รวมถึงยังเป็นการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับพื้นที่ EEC อีกด้วย
ส่วนอีกด้าน คือ ยกระดับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เดิม เป็นอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งวันนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล 6 กลุ่ม ที่จะได้รับการส่งเสริมภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ โดยมีประเภทกิจการที่ขอรับการส่งเสริมจำนวน 37 ประเภทกิจการ ในจำนวนนี้เป็นประเภทกิจการที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้การส่งเสริม อยู่แล้ว และกระทรวงดิจิทัลฯ ขอเพิ่มอีก 9 ประเภทกิจการ ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมดิจิทัลยุคใหม่ เช่น Big Data Analytic และ กิจการออกแบบแผงวงจรและชิ้นส่วนควบคุมระบบอัตโนมัติ เป็นต้น