นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า การขับรถผ่านเส้นทาง ที่มีน้ำท่วมสูงมีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย และเครื่องยนต์ชำรุดเสียหาย เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วมและเทคนิคการกู้รถ เมื่อเครื่องยนต์ดับบนเส้นทางน้ำท่วม ดังนี้ กรณีขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วม ปิดเครื่องปรับอากาศเพราะพัดลมจะพัดน้ำเข้าไป ในห้องเครื่อง ทำให้เครื่องยนต์ดับ รวมถึงอาจพัดเศษวัสดุเข้าไปติดในมอเตอร์พัดลม หรือใบพัด ทำให้ระบบระบายความร้อนของเครื่องยนต์ขัดข้อง ใช้ความเร็วต่ำ โดยรักษาความเร็วให้อยู่ในระดับเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันคลื่นน้ำที่อาจกระเด็นบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทาง และกระแสน้ำอาจพัดเข้าห้องเครื่อง ทำให้เครื่องยนต์ดับ ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมทิศทางรถ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ไม่เร่งเครื่อง เพราะทำให้ความร้อนสูง ใบพัดระบายความร้อนทำงานหนัก และน้ำเข้าเครื่องยนต์มากขึ้น ส่งผลให้เครื่องยนต์ดับ ใช้เกียร์ต่ำ รถยนต์เกียร์ธรรมดา ให้ใช้เกียร์ 1 หรือเกียร์ 2 พยายามเลี้ยงคลัตช์ พร้อมเร่งเครื่องยนต์ ให้รอบเครื่องสูงกว่าปกติเล็กน้อย รถยนต์เกียร์อัตโนมัติ ควรใช้เกียร์ Lและรักษารอบเครื่องยนต์ให้คงที่ ลดการใช้เบรก โดยใช้แรงเฉื่อยของเครื่องยนต์ในการหยุดหรือชะลอความเร็วรถ เพื่อความปลอดภัย ควรเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุกรณีรถคันหน้าขัดข้องหรือหยุดกะทันหัน หลังขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วม ควรตรวจสอบระบบเบรกและคลัตช์ โดยเหยียบย้ำเบรกและคันเร่งสลับกันอย่างช้าๆ โดยทำซ้ำๆ เพื่อไล่น้ำออกจากผ้าเบรก จะช่วยให้ระบบเบรกใช้งานได้ตามปกติ สำหรับรถยนต์เกียร์ธรรมดา ให้เหยียบย้ำคลัตช์ เพื่อป้องกันคลัตช์ลื่น ขับรถต่อไปอีกประมาณ 20 นาที เพื่อไล่น้ำหรือความชื้นที่ค้างอยู่ในระบบต่างๆ ของรถ และเครื่องยนต์ ไม่ดับเครื่องยนต์ในทันที โดยสตาร์ทเครื่องยนต์ทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที พร้อมเปิดเครื่องปรับอากาศ จะช่วยให้เครื่องยนต์แห้งเร็วขึ้น กรณีเมื่อรถเครื่องยนต์ดับขณะขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วม ให้รีบนำรถออกจากเส้นทางที่มีน้ำท่วม โดยใช้วิธีลาก จูง จากนั้นเปิดฝากระโปรงรถ และปลดขั้วแบตเตอรี่ออก เพื่อไม่ให้ไฟฟ้า เข้าไปเลี้ยงระบบต่างๆ ของรถ ทำให้เครื่องยนต์เสียหายมากขึ้น ระบายน้ำในห้องเครื่อง โดยถอดน็อตอ่างน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ เฟืองท้าย ถังน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อน้ำที่ขังอยู่ไหลออกมาหมดให้ขันน็อตปิด ตัดระบบไฟฟ้าไม่ให้ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์ โดยปลดอุปกรณ์ที่เป็นขั้วไฟฟ้า และปลั๊กทุกตัวในห้องเครื่อง พร้อมถอดหัวเทียน แผงฟิวส์ กล่องรีเลย์ และกล่องสมองกล (ECU) ปล่อยให้อุปกรณ์ต่างๆ แห้ง โดยการตากแดด เป่าด้วยลมร้อน หรือใช้สเปรย์ฉีดไล่ความชื้นจากชิ้นส่วนต่างๆ แห้งสนิท หรือไม่มีความชื้น จากนั้นให้ประกอบชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้ากลับเข้าที่เดิม ทดสอบเครื่องยนต์ในเบื้องต้น โดยเปิดสวิตช์ไฟ เพื่อตรวจดูแผงไฟหน้าปัดรถ พร้อมทดลองสตาร์ทรถหลายๆ ครั้ง โดยไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ เพื่ออุ่นเครื่องและไล่ความชื้นในห้องเครื่อง สังเกตอาการของเครื่องยนต์ โดยทดลองเข้าเกียร์ทุกตำแหน่งขณะที่รถจอด หากทุกเกียร์ตอบสนอง ให้ลองเคลื่อนรถโดยใช้เกียร์ต่ำ หากรถมีอาการสะดุด เครื่องยนต์สั่น หรือเร่งเครื่องยนต์ไม่ขึ้น ให้นำรถเข้าศูนย์บริการหรืออู่ซ่อมรถ เพื่อให้ช่างดำเนินการตรวจสอบก่อนนำรถไปใช้งาน ตรวจสอบระบบไฟส่องสว่าง ทั้งไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเบรก ไฟเลี้ยว หากไม่สามารถใช้งานได้ ให้เปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ก่อนนำรถไปใช้งาน กรณีไม่สามารถนำรถออกจากเส้นทางน้ำท่วมได้ ให้นำแม่แรงมายกรถให้สูงขึ้น พร้อมนำอิฐ ไปค้ำยางรถยนต์ทั้ง 4 ล้อ ให้สูงกว่าระดับน้ำท่วม จากนั้นถอดขั้วแบตเตอรี่ออก เพื่อป้องกันระบบไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้เครื่องยนต์ ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ หลังขับรถผ่านเส้นทางน้ำท่วม ผู้ขับขี่ควรตรวจสอบเครื่องยนต์ หากรถมีอาการผิดปกติ เช่น เครื่องยนต์สั่น เดินไม่เรียบ เสียงดัง เร่งเครื่องไม่ขึ้น น้ำมันเกียร์มีสีคล้ายสีชาเย็น เป็นต้น ควรนำรถไปให้ช่างผู้ชำนาญการตรวจสอบสภาพก่อนนำรถไปใช้งาน จะช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit