นวัตกรรม “ขยะแลกภาษี” ไอเดียดี๊ดีของชาวบ้าน 'บาโงฆาดิง’ ปลูกจิตสำนึก-สานฝันตำบลสุขภาวะ ร่วมสร้าง “ปัตตานีเมืองสะอาด”

25 May 2017
"บาโงฆาดิง" เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในตำบลนาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ที่ในมุมมองของคนภายนอกอาจบอกว่าแถบนี้เป็นพื้นที่มีเรื่องของเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่เชื่อหรือไม่ว่าชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้เขากลับอยู่กันอย่างมีความสุขและเรียบง่าย แถมยังค้นพบเครื่องมือในการสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นกับสมาชิกชุมชน ที่ถูกขยายผลอย่างรวดเร็วไปทั่วทั้งตำบล 7 หมู่บ้าน กับเรื่องง่ายๆ ที่หลายคนมองข้ามนั่นก็คือเรื่องของการจัดการ "ขยะ"
นวัตกรรม “ขยะแลกภาษี” ไอเดียดี๊ดีของชาวบ้าน 'บาโงฆาดิง’ ปลูกจิตสำนึก-สานฝันตำบลสุขภาวะ ร่วมสร้าง “ปัตตานีเมืองสะอาด”

จากปัญหาที่ องค์การบริหารส่วนตำบลนาเกตุ ได้รับการร้องขอ "ถังขยะ" จำนวนมากจากชาวบ้านแทบทุกครัวเรือน ความสงสัยว่าเพราะอะไรชาวบ้านจึงต้องการถังขยะจำนวนมากขนาดนั้นได้ถูกหยิบยกเข้าไปพูดคุยกันในเวทีประชาคมหมู่บ้านเพื่อจัดทำแผนพัฒนาชุมชน จนเกิดการชักชวนให้ชาวบ้านบาโงฆาดิงหมู่ที่ 5 มาร่วมกันทำกิจกรรมการ "คัดแยกขยะ" เพื่อแก้ปัญหาขยะมูลฝอยล้นถังในชุมชน ที่ต่อมาได้พัฒนามาสู่การจัดทำ "โครงการการจัดการขยะในชุมชนบ้านบาโงฆาดิง" ขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นางประภัสสร ขวัญกะโผะ ปลัด อบต.นาเกตุ และหัวหน้าโครงการฯ เล่าให้ฟังว่าจากข้อมูลและปัญหาที่ได้พูดคุยกันในเวทีประชาคมหมู่บ้าน ได้เกิดเป็นแนวคิดในการจัดทำโครงการการจัดการขยะในชุมชนขึ้นมา โดยทาง อบต.นาเกตุ ได้ร่วมกับ รพ.สต.นาเกตุ มาให้ความรู้กับชาวบ้านในเรื่องของการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ รวมถึงการนำขยะเหลือใช้ มาสร้างประโยชน์และมูลค่าเพิ่มขึ้นเช่น การเศษอาหารต่างๆ มาทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ และเกิดการต่อยอดไปสู่นวัตกรรม "ขยะแลกภาษี" ของชุมชน

"พอได้คุยกันชาวบ้านทุกคนก็ได้ให้ความสำคัญ ต้องการที่จะให้มีโครงการนี้เกิดขึ้นมา โดยได้มีการจัดทำกติกาชุมชนขึ้นมา 6 ข้อ โดยกำหนดให้ทุกวันศุกร์ของสัปดาห์เวลาตั้งแต่ 9.00-11.00 น.ให้สมาชิกในชุมชนนำขยะที่คัดแยกแล้วมาขายในราคาที่กำหนดไว้ ซึ่งนอกจากจะทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการคัดแยกและขายขยะแล้ว ขยะที่คัดแยกแล้วยังสามารถนำใช้ในการชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือน และภาษีป้าย รวมไปถึงนำมาใช้ชำระค่าธรรมเนียมการเก็บขยะของชุมชนได้ ซึ่งเมื่อก่อนชาวบ้าวจะค้างภาษีจำนวนมาก และไม่ต้องการเอาเงินมาจ่ายภาษี แต่ปรากฏว่าหลังจากทำโครงการนี้ชาวบ้านก็จะจ่ายภาษีย้อนหลังทั้งหมดทุกปี จากที่เคยเก็บภาษีในหมู่บ้านนี้ได้เพียงร้อยละ 20 ตอนนี้ก็เก็บภาษีเพิ่มได้ถึงร้อยละ 60"

นายประสพพร สังข์ทอง ผอ.รพ.สต.นาเกตุ กล่าวเวทีการจัดการขยะที่เกิดขึ้นในทุกวันศุกร์ เป็นช่วงเวลาที่หน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่สามารถใช้ช่วงเวลาเดียวกันนี้มาบูรณาการเข้ากับการการทำงานของตนเองได้เป็นอย่างดี เพราะโดยปกติประชาชนในพื้นที่จะต้องไปประกอบอาชีพต่างๆ อยู่ในสวน หรือนอกพื้นที่บ้าง ซึ่งบางครั้งอาจะพบเจอกันได้ยาก แต่จากกติกาของชุมชนที่นัดหมายและใช้เวลาในช่วงเช้าก่อนที่มีการละหมาดใหญ่วันศุกร์ในช่วงบ่าย เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทำงานในเรื่องต่างๆ กับชาวบ้านได้มากที่สุด

"อย่าง รพ.สต.นาเกตุ ก็จะใช้ช่วงเวลาเดียวกันนี้เข้ามาติดตามตรวจสุขภาพประชาชน คัดกรองความเสี่ยง โรคเบาหวาน ความดัน แล้วก็ให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องของสุขภาพ บริการวัคซีน ติดามวัคซีนในเด็กที่อาจจะขาดนัด เพราะปกติเวลาที่คนในชุมชนนำขยะมาขายหรือมาจ่ายเป็นภาษีก็มักจะที่จะมีเด็กๆ ติดสอยห้อยตามผู้ใหญ่มาด้วย ซึ่งเมื่อก่อนก็ต่างคนต่างนัด แต่ตั้งแต่มีโครงการขึ้นมาการทำงานก็ง่ายขึ้นทุกหน่วยงานสามารถมาดูแลกลุ่มเป้าหมายของตัวเองได้ภายในวันเดียวกัน ที่สำคัญยังก่อให้เกิดการพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ มีความคุ้นเคยกันมากเกิด ชาวบ้านเองก็เกิดความเข้าใจในโครงการและแผนงานต่างๆ ของภาครัฐที่มากขึ้น"

นายมะรอฮิง สาและ ผู้ใหญ่บ้านบาโงฆาดิงหมู่ 5 เล่าเสริมว่าจากการที่ชาวบ้านได้มารวมตัวกันทุกวันศุกร์เพื่อทำกิจกรรมคัดแยกและซื้อขายขยะมาอย่างสม่ำเสมอนั้น ประโยชน์ที่เกิดขึ้นและเห็นได้ชัดเจนคือขยะในชุมชนลดลง ชาวบ้านเองก็มีความรู้ในการจัดการขยะเศษอาหารที่เหลือทิ้ง โดยจะนำเอามารวมกันเพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ เมื่อทำเสร็จก็จะแบ่งและแจกจ่ายกันกลับไปใช้ในครัวเรือน"วันนี้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของขยะมากขึ้น จากเดิมที่เห็นว่าอะไรที่ไร้ค่าอย่างพวกผักและเศษอาหารก็ทิ้งใส่ลงไปในถังขยะทั้งหมด วันนี้ทุกคนก็รู้ว่าสามารถเอากลับมาใช้ประโยชน์ได้เกือบทั้งหมด จากเมื่อก่อนที่ขยะล้นถัง เดี๋ยวนี้แทบจะไม่มีขยะ กลายเป็นว่าทุกวันนี้เวลาที่นัดกันแทบจะไม่มีขยะมาขายเสียด้วยซ้ำ"

นายดอเลาะ ลาเต๊ะ เลขานายก อบต.นาเกตุ แนวทางการทำงานในพื้นที่ของ อบต.นาเกตุ จะส่งเสริมให้ประชาชนจัดการตัวเองและดูแลตัวเอง อย่างโครงการในเรื่องของการจัดการขยะนี้ก็เช่นกัน เกิดจากการที่ชาวบ้านเขาคิดเองและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาในชุมชนของตนเอง โดยทาง อบต.หรือ รพ.สต. ก็จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องวิชาการและความรู้ต่างๆ

"สิ่งที่ชาวบ้านทำในวันนี้ได้ตอบสนองต่อนโยบายของจังหวัดปัตตานี โดยเฉพาะในเรื่องของปัตตานีเมืองสะอาด นอกจากนี้ยังสร้างให้คนในชุมชนมีจิตสำนึกเคารพในกติกาของชุมชนในเรื่องของการจัดการขยะ ซึ่งผู้นำทางศาสนาเองก็ใช้หลักของศาสนาอิสลามมาบูรณาการกับเรื่องการสร้างจิตสำนึกให้กับเด็กและเยาวชนในเรื่องของการคัดแยะขยะอย่างถูกวิธีอีกด้วย เพราะความสะอาดเป็นหลักการสำคัญในศาสนาอิสลาม ที่สอนและเน้นในเรื่องของความสะอาด ทั้งร่างกาย เสื้อผ้า อาหารและอื่นๆ ทั้งของส่วนตัวและสาธารณะ"

นางสาวสากีน๊ะ สะแม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และผู้รับผิดชอบโครงการเล่าว่าความสำเร็จของชุมชนแห่งนี้ในการจัดการขยะเกิดขึ้นจากการร่วมมือร่วมใจกันทำงานของ "4 เสาหลักของชุมชน" ที่ประกอบไปด้วย ผู้นำชุมชนท้องถิ่น ผู้นำศาสนา อปท. และ รพสต. โดยประชาชนมีส่วนร่วม จนสามารถขยายผลการดำเนินงานจาก 1 หมู่บ้านออกไปจนครบทั้ง 7 หมู่บ้าน รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร "LINE" ของกลุ่มเครือข่าย อสม ในพื้นที่ในการเล่าเรื่องด้วยภาพและสร้างแรงจูงใจให้กับเพื่อนที่อื่นๆ ให้ใช้วิธีการจัดการขยะเหมือนกับที่ชุมชนบาโงฆาดิง

"ในกลุ่มของ อสม. จะมีการช่วยแชร์ภาพกิจกรรมการคัดแยกขยะ โชว์ภาพตอนขายขยะแล้วได้เงิน แล้วนำเงินมาจ่ายภาษีต่างๆ ลงไปในกลุ่มไลน์ของ อสม. ในพื้นที่ ตัวของผู้นำท้องถิ่นก็จะช่วยแชร์ภาพกิจกรรมดังกล่าวลงไปในกลุ่มไลน์ของเครือข่ายกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ซึ่งภาพความสำเร็จดังกล่าวยังถูกส่งต่อออกไปในระดับอำเภอและจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ทำให้โครงการนี้ถูกพูดถึงกันมาก ชุมชนอื่นๆ เกิดความตื่นตัวและขอให้ทาง อบต.นาเกตุ ไปทำโครงการเดียวในหมู่บ้านของตนเองด้วย ซึ่งหลังจากทำโครงการไปเพียง 5 เดือน ก็สามารถขยายผลการดำเนินออกไปได้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านของตำบลนาเกตุ"

"ผลดีที่เกิดขึ้นคือชุมชนให้การต้อนรับ ชาวบ้านเกิดความตระหนัก เด็กและเยาวชนมีจิตสำนึกในการเก็บขยะมากขึ้น ตามท้องถนนก็จะไม่มีขยะเหลืออยู่เลย และโครงการนี้ยังก่อให้เกิดกิจกรรมการส่งเสริมปลูกผักปลอดสารพิษ การทำปุ๋ยหมักจากขยะที่เหลือใช้ นำขยะในครัวเรือนมาหมักอีเอ็มทำหัวเชื้อและแจกจ่ายกันในหมู่บ้าน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ชัดว่าชาวบ้านมีวินัยในเรื่องการดูแลจัดการขยะในชุมชนมากขึ้น มีการจัดการขยะที่ถูกต้อง มีการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง และทำให้ชาวบ้านมีความสุขที่ได้ดำเนินกิจกรรมตรงนี้" นางประภัสสร ขวัญกะโผะ ปลัด อบต.นาเกตุ กล่าวสรุป

นวัตกรรม"ขยะแลกภาษี" นอกจากจะช่วยให้ปัญหาขยะในชุมชนลดลง เด็กๆ มีค่าขนม สมาชิกในชุมชนเรียนรู้การคัดแยกขยะ เกิดจิตสำนึกในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ขยะจึงนำมาซึ่งพลังการสร้างสุขภาวะด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวตำบลนาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ทุกๆคน.

HTML::image(