หลังจากศูนย์บัญชาการแก้ไข
การทำประมงผิดกฎหมาย ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดมาตรฐาน สมรรถนะของอุปกรณ์และข้อกำหนดเชิงหน้าที่ (Performance Standards and Functional Requirements) ของระบบติดตามเรือประมง หรือ Vessel Monitoring System: VMS ตามพระราชบัญญัติการประมง ปี พ.ศ. 2558 ซึ่งได้กำหนดให้เรือประมง เรือบรรทุกสินค้า ประมง ห้องเย็น ตลอดจนยานพาหนะทางน้ำทุกชนิดที่ใช้ทำการประมงขนถ่ายหรือเก็บรักษาสัตว์น้ำที่ได้จากยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด ที่ใช้ทำประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสส์ขึ้นไป ที่ออกทำการประมงพาณิชย์ ต้องดำเนินการติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System: VMS) และดูแลรักษาระบบดังกล่าวให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลานั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ หลายภาคส่วน ได้ร่วมมือกันช่วยรับมือปัญหาที่เกิดขึ้น ด้านบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ซึ่งดูแลในส่วนของวงจรสื่อสาร กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงข่ายดาวเทียม เพื่อให้บริการระบบติดตามเรือประมง Vessel Monitoring System : VMS ร่วมกับบริษัท เอ็กซ์เซ้นส์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส จำกัด ที่เป็นผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ในส่วนของโปรแกรมระบบติดตามเรือ สำหรับใช้ตรวจสอบและติดตามตำแหน่งของเรือ โดยข้อมูลต่างๆ จะถูกส่งผ่านดาวเทียม Inmarsat ไปยังสถานีภาคพื้นดิน ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และมีการสำรองระบบที่สถานีภาคพื้นดินซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียในเวลาเดียวกัน พร้อมเชื่อมต่อข้อมูลมายังศูนย์จัดเก็บข้อมูล ด้วยโปรแกรมระบบระบุตำแหน่งเรือประมง ผ่าน VPN Tunnel Gateway ของ CAT มายังระบบ IRIS Cloud ที่จะเป็นตัวกลางในการสื่อสารและการจัดเก็บข้อมูลส่งต่อข้อมูลไปยังกรมประมงผ่านวงจรสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง โดยจะมีการตรวจสอบดูแลความปลอดภัยของข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง เป็นการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จภายใต้เสถียรภาพและมาตรฐานการเชื่อมโยงข้อมูลความเร็วสูงของ CAT โดยในช่วงการทดสอบการให้บริการระบบดังกล่าวแก่กรมประมง ได้มีเรือประมงที่เริ่มทดลองใช้บริการแล้วกว่า 2,000 ลำ นับเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ ได้มีการทดสอบเพื่อให้บริการเพิ่มเติมในด้านการติดต่อสื่อสารกับภายนอกเรือ ประกอบด้วย การส่งผ่านข้อมูล (Data), การติดต่อทางเสียง (Voice) รวมไปถึงการใช้งานแอพพลิเคชั่นของสมาร์ทโฟน ผ่านจุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต WiFi ภายในเรือได้อย่างสะดวก ซึ่งจะเป็นมิติใหม่ของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ
อุตสาหกรรมประมงไทย ทั้งนี้ในอนาคต CAT ยังได้เดินหน้าพัฒนา Gateway สำหรับบริการระบบติดตามเรือผ่านดาวเทียมในภูมิภาคนี้ รวมถึงการพัฒนาซอฟท์แวร์ด้าน Tracking และ Monitoring อื่นๆ เพื่อรองรับการใช้งานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่อไปอีกด้วย