คุณนัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องฉลาดเกมส์โกง กล่าวว่า "สังคมที่เราอยู่ทุกวันนี้ความขาวกับความดำ มันเริ่มเลือน ๆ กลายเป็นสังคมเทา ๆ ทำให้เราไม่รู้ว่าจะชี้ผิด หรือชี้ถูกกับใครได้ ก็เลยคิดว่าหนังเรื่องนี้น่าจะสร้างมิติ หรือมุมมอง บางอย่างที่พูดถึงสังคมและกับเยาวชนได้ มันมีอะไรหลาย ๆ อย่างในรั้วโรงเรียนมานานแล้ว แต่เราลืมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันถูกต้องหรือเปล่า ไม่ว่าจะเรื่องค่าบำรุงการศึกษา หรืออื่น ๆ พอเราโตแล้วเราถอยห่างออกมาจากจุดนั้นนานแล้ว ทำให้รู้ว่า เราอยู่กับมันมานานจนเราคุ้นเคย ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นสิ่งไม่ถูกต้องเลย"
คุณธเนศ วรากุลนุเคราะห์ นักแสดง กล่าวว่า "ทุกครอบครัวจะบอกลูกอยู่เสมอว่าให้เป็นคนดี ซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ ไม่คดโกง สิ่งสำคัญที่สุดคนเป็นพ่อเป็นแม่จะทราบว่า ลูกจะไม่ทำตามสิ่งที่พ่อแม่พูด แต่จะทำตามสิ่งที่พ่อแม่ทำ ถ้าทุกครอบครัวมองที่ตัวเองว่าจริง ๆ แล้วทำตามที่พูดเป็นตัวอย่างให้ลูก ๆ หรือเปล่า อิธิพลจากการพูดไม่สำคัญเท่ากับการกระทำ"
ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยทีดีอาร์ไอ ได้ให้ความเห็นว่า "การต่อต้านคอร์รัปชัน ในประเทศฮ่องกง ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกัน 80% การปราบปราม 20% ต่างกันกับในประเทศไทยซึ่งเน้นเรื่องการปราบปราม อยากจะเห็นหนังแนวนี้ ที่ไม่ใช่การสอนหรือท่องจำ แต่ต้องปลูกฝังเข้าไปในจิตสำนึกว่าอะไรคือดี อะไรคือไม่ดี และขอแสดงความยินดีกับหนังเรื่องนี้ เนื่องจากเนื้อหาของหนังเป็นเรื่องใกล้ตัวกับเด็ก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโรงเรียน เด็กจะเข้าใจได้ง่ายกว่าเอาเรื่องหลักการมาอธิบายให้ฟัง"
ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ กล่าวเพิ่มเติม ความสับสนระหว่างความกตัญญู อยากช่วยเหลือพ่อแม่ไม่อยากให้เดือนร้อน จึงทำเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ในเรื่องนี้จึงแฝงเรื่องของสังคมไทยสอนเรื่องการตอบแทนบุญคุณ เป็นเส้นแบ่งที่หากคนไม่เข้าใจ ทำให้พลาดทำสิ่งที่ผิด โดยคิดว่านิดเดียวไม่เป็นไร จากเรื่องที่เป็นสีเทา มันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมากเกินไปจนย้อนกลับมาไม่ได้ สุดท้ายคนที่เราพยายามจะช่วยเหลือ ก็คือพ่อแม่ กลับกลายเป็นความทุกข์ให้กับเค้า และเห็นว่าหนังเรื่องนี้ดีมากในการนำเสนอ
คุณปฏิพัทธ์ สุสำเภา Opendream "หนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่นำเสนอเรื่องเก่าที่มีมานแล้วเพื่อที่จะให้เข้าถึงกลุ่มคนยุคใหม่ ๆ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงแนวทางและวิธีการนำเสนอ" ซึ่งทาง Opendream ทำเกมประเด็นเรื่องการเรียนรู้เรื่องการคอร์รัปชั่น ชื่อเกม "คอร์รัป" ซึ่งเกมมี 5 ตอน เนื้อหาสะท้อนปัญหาคอร์รัปชันจริง ๆ ในเมืองไทยที่ได้ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยใช้สื่อมาดัดแปลง เกมนี้เป็นแนว interaction ที่ผู้เล่นสามารถเก็บข้อมูลตัวเลือกของผู้เล่นกลับมา โดยสอดแทรกให้ผู้เล่นเรียนรู้ในขณะที่เล่นเกม ในประเด็นที่นำสู่การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นที่มีความยากง่ายต่างกัน ซึ่งไอเดียของเกมจะถามคำถามเดียวคือ "คุณจะหยุดยั้ง หรือปล่อยไป"
คุณปฏิพัทธ์ สุสำเภา กล่าวเพิ่มเติม วิธีการสื่อสารมีอยู่หลายละดับ เริ่มจาก พูดให้จำ ทำให้ดู ให้รู้เอาเอง แต่วิธีการสือสารที่ดีสำหรับคนใหม่ ๆ คือการทำให้ดู กับการเรียนรู้เอาเอง เราในฐานะคนที่จะต้องสื่อสารก็ต้องปรับตัว และส่งสื่อให้ถูกกลับกลุ่มเป้าหมาย
คุณนัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องฉลาดเกมส์โกง กล่าวทิ้งท้าย หน้าที่ของคนที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเกมหรือหนังก็แล้วแต่ ไม่ควรจะมีท่าทีที่สั่งสอนจนเกินไป สังเกตุหนังในตอนจบ จะเปิดทางเลือกให้กับตัวละคร สองตัว ซึ่งตัวนึงจะไปขาวจัด อีกตัวนึงจะไปดำจัด โดยที่ไม่ได้ชี้นำว่าคุณในฐานะคนดูจะเลือกทางไหนเพียงแต่บอกว่าหลายครั้งในชีวิตจะเจอบททดสอบ เจอคำถามที่โยนมาให้เราแล้วคุณจะมีตัวเลือกในการทำหรือไม่ทำไม่ว่าจะถูกหรือผิดถ้าเราเลือกไปเราจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน
นอกจากนี้ คุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ให้ความเห็นว่า สังคมไทยควรจะมีเรื่องที่ทำให้ เด็กหรือผู้ใหญ่ มีสำนึกและข้อคิดในการคอร์รัปชั่นมากขึ้น เพราะการที่ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จ การที่จะก้าวไปสู่สังคมที่โปรงใส่ได้เป็นเพราะเราสำนึกในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่นตลอดเวลา