นับจากวันนี้ไปถึง 3 เดือน คือช่วงเวลาที่ชาวอีสาน พร้อมใจกันสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟ เพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ตามความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติกันมานานกว่า 100 ปี ซึ่งจากจุดเริ่มต้นในอดีตถึงปัจจุบันบั้งไฟที่จุดขึ้นฟ้าเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธินั้น ได้รับการพัฒนารูปแบบและเชื้อเพลิงตามภูมิปัญญาของชาวบ้าน จนสามารถพุ่งทะยานขึ้นสู่ที่สูงได้เร็วและไกลกว่าเดิม แต่หากได้มีการผนวกองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มเข้าไป จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพต่อยอดภูมิปัญญาไทยได้ก้าวไกลยิ่งขึ้น
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. ร่วมกับ บริษัท Zignature Marketing จำกัด ซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติการในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ (U.S. Space and Rocket Center – USSRC) สถาบันวิจัยการบินและอวกาศแห่งประเทศไทย (Thailand Space and Aeronautics Research – TSR) ชมรมอนุรักษ์มรดกยโสธร และกองทัพบก นำเอาองค์ความรู้หลักการอากาศพลศาสตร์ (aerodynamics) และเทคโนโลยีติดตามจรวด หรือ GPS เพื่อบอกพิกัด ความเร็ว ความสูง และประสิทธิภาพของการยิง รวมถึงติดตั้งเทคโนโลยีจับภาพเคลื่อนไหว ขณะจรวดเดินทางจากพื้นสู่อากาศ พัฒนาเป็นบั้งไฟต้นแบบ 4.0 ชื่อว่า "จรวดบั้งไฟช้างสาร๑" ความสูงประมาณ 2 เมตร หน้าตัดกว้างประมาณ 9 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม อันเป็นการผนวกความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ากับภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย
ผศ.พลศาสตร์ เลิศประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาเทคโยโลยีป้องกันประเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผู้ดูแลโครงสร้างจรวดสมัยใหม่ตามหลักการอากาศพลศาสตร์ (aerodynamics)กล่าวว่า จุดเริ่มต้นในการเข้ามาศึกษารูปแบบและความสามารถของบั้งไฟ อันเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากประเพณีบุญบั้งไฟถือเป็นประเพณีที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน แต่ในระยะหลังเนื่องจากชาวบ้านได้พัฒนารูปแบบและเชื้อเพลิงของบั้งไฟได้ดีขึ้น ทำให้สามารถพุ่งขึ้นไปในระยะที่สูงมากโดยหากเป็นบั้งไฟแสน ซึ่งบรรจุเชื้อเพลิงหรือดินดำประมาณ 120กิโลกรัม ความสูงที่พุ่งขึ้นฟ้าไปไกล 5-10 กิโลเมตร ซึ่งเป็นขีดความสามารถที่สูงใกล้เคียงกับจรวดสมัยใหม่ในต่างประเทศมาก
ดังนั้น เพื่อเป็นการต่อยอดองค์ความรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ให้บั้งไฟของคนไทยมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพที่ดีขึ้น และเพื่อศึกษาข้อมูลที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครศึกษามาก่อน ตั้งแต่รูปแบบ น้ำหนัก ประสิทธิภาพการยิง ความเร็ว ความสูง และพิกัดที่ตกพื้น จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาและศึกษาต้นแบบบั้งไฟ 4.0 ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเหล่านี้ นอกจากจะช่วยให้การจุดบั้งไฟมีความปลอดภัยที่มากขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดความชัดเจนของข้อมูลสำหรับใช้อ้างอิงตามหลักวิชาการได้อีกด้วย โดยในส่วนของการพัฒนาบั้งไฟตามหลักการอากาศพลศาสตร์ หรือ aerodynamics นั้น ได้มีการติดตั้งครีบหรือฟินเข้าไปในส่วนของปลายบั้งไฟด้วย ซึ่งตามหลักการแล้วนอกจากเพิ่มความสมดุลแล้ว ยังเพิ่มเสถียรภาพการทะยานสู่อากาศด้วย โดยจากการทดสอบพบว่าสามารถขึ้นได้สูงกว่าปกติถึง 2 เท่า
"จากการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของบั้งไฟต้นแบบ หลังจากพัฒนาตามหลักการอากาศพลศาสตร์ ซึ่งพบว่าช่วยให้บั้งไฟพุ่งได้สูงขึ้นมากกว่าเดิมกว่า 2 เท่า นับเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนารูปแบบการส่งวัตถุไปสู่ขอบอวกาศ ประยุกต์เป็นแนวทางในการส่งดาวเทียมหรือจรวดของไทย ขึ้นสู่อวกาศได้ในอนาคต ขณะที่การติดตั้งเทคโนโลยีติดตามจรวด หรือ GPS ซึ่งจะสามารถบอกพิกัด ความเร็ว ความสูง และประสิทธิภาพของการยิง รวมถึงติดตั้งเทคโนโลยีจับภาพเคลื่อนไหวขณะจรวดเดินทางจากพื้นสู่อากาศ ยังสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาคำนวนพื้นที่ปลอดภัย โดยเฉพาะรัศมีในการตกสู่พื้นดินที่ถือเป็นความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความสูญเสีย ทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านได้อีกด้วย" ผศ.พลศาสตร์ กล่าว
นายพลกฤษณ์ สุขเฉลิม สถาบันวิจัยการบินและอวกาศแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า การอัพเกรดบั้งไฟซึ่งถือเป็นตัวแทนของเทคโนโลยีแบบเก่า เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้บั้งไฟที่มีความสามารถสูงอยู่แล้วมีภาพลักษณ์ของเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น และมีการศึกษาในมุมมองตามหลักวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงประเพณีบุญบั้งไฟของไทยเรา ไม่ต่างจากการแข่งขันจรวดในต่างประเทศ กีฬาที่มีการแข่งขันจรวดทำมือมานานกว่า 20-30 ปี โดยวัดจากความสูงที่พุ่งขึ้นฟ้าได้สูงที่สุดเหมือนในบ้านเรา แต่ที่แตกต่างคือของต่างประเทศมีการติดตั้งระบบเพื่อติดตามจรวด ทำให้รู้ระดับความสูงและพิกัดของจรวดหลังจากพุ่งขึ้นฟ้า ในขณะที่ของไทยเรายังไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อบันทึกหรือศึกษาอย่างจริงจัง แต่จากการศึกษารูปแบบและเชื้อเพลิงของบั้งไฟไทยถือว่าเรามีของดีไม่แพ้ต่างชาติ เพียงแต่ว่ายังไม่มีการผนวกองค์ความรู้ตามหลักวิทยาศาสตร์เข้ามายกระดับภูมิปัญญาของชาวบ้านให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ขณะที่ นายกฤษณ์ คุนผลิน ผู้แทนศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ USSRC ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและบริหารทุนวิจัยโครงการนี้ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการพัฒนาโครงการ "บั้งไฟ 4.0 วิถีไทย วิถีโลก" ว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการพูดคุยกับนาย Charles Duke นักบินอวกาศ Apollo 16 ซึ่งกล่าวว่าไทยเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่เริ่มยิงจรวด จึงเริ่มรวบรวมทีมงานและหาทุนเพื่อนำเทคโนโลยีไทยแท้ผนวกเข้ากับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ในการสร้างเทคโนโลยีของไทยเองในการสำรวจและทำธุรกิจด้านอวกาศ ซึ่งเมื่อมาเห็นบั้งไฟของไทยเป็นครั้งแรกที่ยโสธร สิ่งที่เห็นคือธุรกิจแสนล้านเหรียญสหรัฐและทำให้นึกถึงการที่ธุรกิจอวกาศ ได้เปลี่ยนเมือง Huntsville ในรัฐ Alabama ที่ในอดีตทำเกษตรกรรมเหมือนยโสธร แต่ในปัจจุบันเป็นเมืองด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่สองของสหรัฐ จึงเชื่อมั่น การเอาจริงในเรื่องนี้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 15-20 ปี จะทำให้เห็นผลด้านการพัฒนาธุรกิจอวกาศในไทยอย่างแน่นอน
"กว่า 60 ปี ที่ผ่านมา ชาวตะวันตกใช้จรวดในการสำรวจอวกาศ เพื่อพามนุษย์และเครื่องจักรต่างๆ ออกสู่อวกาศ จนการเดินทางสู่อวกาศด้วยจรวดเป็นการเดินทางที่แพร่หลายในปัจจุบัน หากแต่ไม่ใช่เพียงชาวตะวันตกที่เริ่มต้นคิดค้นการเดินทางขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วยจรวด แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คนไทยนี่เองที่เริ่มต้นสร้างและยิงจรวดขึ้นสู่ท้องฟ้ามาก่อนแล้วกว่าพันปี ซึ่งก็คือประเพณีบุญบั้งไฟนั่นเอง เบื้องหลังวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน คือเทคโนโลยีชาวบ้านที่มาจากภูมิปัญญาในการสร้างบั้งไฟที่ตกผลึกและสั่งสมผ่านการทดลองมานับพันปี จนเกิดเป็นบั้งไฟที่ทรงพลังที่ไม่แพ้การแข่งขันจรวดในที่อื่นๆ ของโลก ซึ่งนวัตกรรมชาวบ้านนี้หากนำมาผนวกกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ จะสามารถนำไปสู่การทำให้บั้งไฟเป็นจรวดที่ทันสมัยอย่างแน่นอน" นายกฤษณ์ กล่าว
ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สำหรับแนวทางการส่งเสริมขีดความสามารถของนักศึกษาไทย ในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศนั้น ขณะนี้ สจล. ได้จัดตั้งวิทยาลัยวิศวกรรมอวกาศและระบบโลก (College of Space and Earth Systems Engineering : SESE) คาดว่าจะเปิดรับสมัครนักศึกษาและทำการเรียนการสอนได้ในปีการศึกษา 2561 ซึ่งในเบื้องต้นได้มีความร่วมมือกับองค์การอวกาศโลกและของญี่ปุ่น ตามความมุ่งมั่นที่ต้องการสร้างนักบินอวกาศไทยให้ได้ในอนาคต ควบคู่ไปกับการผลิตบุคลากรที่มีองค์ความรู้ด้านการจัดการน้ำ ภัยธรรมชาติ พลังงาน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในโลกปัจจุบัน โดยได้ลงนามความร่วมมือกับกรมฝนหลวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำฝนหลวงเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งของประเทศ และร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการรับรู้ระยะไกลและพยากรณ์อาการและภูมิภาค เพราะหากเรามีการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำจะช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา ทีมพัฒนาบั้งไฟต้นแบบ 4.0 ได้ยิง "จรวดบั้งไฟช้างสาร๑" ความสูงประมาณ 2 เมตร หน้าตัดกว้างประมาณ 9 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม ขึ้นสู่ท้องฟ้า จ.ยโสธร ในประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร เพื่อทดสอบประสิทธิภาพ บันทึกข้อมูล และวิเคราะห์ผลในด้านต่างๆ พบว่าสามารถทะยานสู่ท้องฟ้าจุดสูงสุดที่ระดับ 470 เมตร โดยมีอัตราความเร็วขาขึ้นที่ 450 กิโลเมตร/ชม. และใช้เวลาประมาณ 21 วินาที ซึ่งในภาพรวมถือว่าประสิทธิภาพของการยิงในครั้งนี้ เป็นที่น่าพอใจและประสบผลสำเร็จตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ สามารถนำไปเป็นต้นแบบในการต่อยอดรูปแบบ การส่งวัตถุเช่น ดาวเทียม และจรวดของไทย ขึ้นสู่อวกาศได้ในอนาคต
นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit