นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้ติดตามสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 24 - 28 เมษายน 2560 พบว่า การเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมในพื้นที่ภาคใต้ เกษตรกรมีการบริหารจัดการการเลี้ยงได้ดีขึ้น ทำให้ความเสียหายจากโรคตายด่วนลดลง จากการติดตาม กุ้งที่เลี้ยงในช่วงนี้ อาจมีอาการขี้ขาว ซึ่งเกิดจากเชื้อไมโครสปอร์ริเดีย (Enterocytozoon hepatopenaei) ที่พบอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป เช่น น้ำ ตะกอนดินที่หมักหมมก้นบ่อ ซึ่งแม้ลูกพันธุ์กุ้งที่ปล่อยลงเลี้ยงจะมีคุณภาพดีแต่หากปล่อยในบ่อเลี้ยงที่ไม่สะอาดและมีการจัดการการเลี้ยงที่ไม่ดี กุ้งที่เลี้ยงอาจมีอาการขี้ขาวได้ ส่งผลให้กุ้งทยอยตายเมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 50 วันขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่กุ้งที่จับในช่วงอายุนี้ จะมีขนาดประมาณ 100 ตัวต่อกิโลกรัม
หากเกษตรกรพบอาการดังกล่าว (มีขี้ขาวลอยขึ้นมา) สามารถจับกุ้งขายก่อนกำหนดได้ในราคากิโลกรัมละ 141.87 บาท แต่หากกุ้งไม่มีอาการ เกษตรกรสามารถเลี้ยงได้ครบ 90 วัน ซึ่งจะได้กุ้งที่โตขึ้นขนาด 60 ตัวต่อกิโลกรัม และขายได้ (เฉลี่ย ณ มกราคม - เมษายน 2560) ในราคากิโลกรัมละ 204.13 บาท
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งภาคใต้บางราย ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยง โดยการปล่อยลูกพันธ์ปลานิลลงในบ่อเลี้ยงกุ้ง และปล่อยกุ้งหนาแน่นน้อยลงเฉลี่ย 100,000 ตัวต่อไร่ หลังจากปล่อยลูกกุ้งไปได้ 15 - 20 วัน จึงปล่อยลูกพันธุ์ปลานิลในอัตรา 250 - 300 ตัวต่อไร่ ซึ่งปลานิลจะเป็นตัวช่วยในการทำความสะอาดบ่อเลี้ยง มีการกินเศษอาหารที่เหลือค้างก้นบ่อ ช่วยลดการหมักหมมของตะกอนก้นบ่อที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้ ส่งผลให้กุ้งมีอัตรารอดถึงร้อยละ 80 เกษตรกรได้ผลผลิตกุ้งไร่ละ 1.3 - 1.5 ตันต่อรุ่น
ดังนั้น การจัดการสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะบ่อเลี้ยงให้มีความสะอาดจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยการเลี้ยงปลานิล ในบ่อกุ้ง นับเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดการเกิดโรคที่ทำได้ง่ายภายใต้การลงทุนที่ไม่สูงมาก เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งสามารถนำไปปรับใช้เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคได้ รองเลขาธิการ กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit