7 สมาคมเหล็กจี้รัฐบาลเร่งบังคับใช้ Anti-circumvention

23 May 2017
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมากรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดให้มีการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย(Public Hearing) ต่อร่างพ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่ว่าด้วย"มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-Circumvention)" เนื่องจากปัจจุบันพบว่าผู้ส่งออกสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเหล็กหลายประเภท พยายามใช้ช่องโหว่ของกฎหมายการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนในการหลบเลี่ยงมาตรการ สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศและทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการเรียกเก็บอากรทุ่มตลาดในการนี้กลุ่มผู้ประกอบการเหล็ก 7 สมาคมประกอบด้วย สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และสมาคมโลหะไทย ในฐานะกลุ่มอุตสาหกรรมภายในที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากสินค้าเหล็กนำเข้าหลบเลี่ยงมาตรการและการอุดหนุน ร่วมแถลงสนับสนุนกระทรวงพาณิชย์ให้เร่งออกประกาศบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการเหล็กในประเทศพยายามผลักดันกระทรวงพาณิชย์มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยในปี 2558 ผู้แทน 7 สมาคมผู้ประกอบการเหล็กได้เข้าพบรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพื่อขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการออกกฎหมาย จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม 2559คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้มีการแก้ไขพ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ โดยเพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาดและการอุดหนุน

นายนาวา จันทนสุรคน อุปนายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย ในฐานะตัวแทนกลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการเหล็กกล่าวว่าปัจจุบันผู้ส่งออกเหล็กต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย พยายามแสวงหาช่องทางต่างๆเพื่อหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาดและการอุดหนุน เช่น กรณีเหล็กแผ่นรีดร้อนที่มีการเคลือบสีอย่างหยาบ หรือ การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางเคมีโดยเจือธาตุอัลลอยด์เพียงเล็กน้อย เพื่อเปลี่ยนพิกัดศุลกากรสินค้าที่ไม่อยู่ในขอบข่ายที่ถูกเรียกเก็บอากรทุ่มตลาด "ผู้ส่งออกเหล็กต่างประเทศอาศัยช่องว่างของกฎหมายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติในเรื่องมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาดหรือ Anti-Circumvention ซึ่งเป็นมาตรการทางการค้าที่บังคับใช้ในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป มาเป็นเวลานานแล้ว" นายนาวากล่าว

นายอนุวัฒน์ หวังวณิชชากร เลขาธิการสมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย ชี้ว่าขณะนี้ปัญหาสินค้าเหล็กหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาดกลายปัญหาสำคัญในระดับภูมิภาคอาเซียนไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเหล็กจากประเทศจีน ซึ่งผู้ส่งออกจีนมีพฤติกรรมที่ชัดเจนในการหลบเลี่ยงอากรทุ่มตลาด โดยวิธีการที่ผู้ส่งออกจีนใช้ก็คือ การเลี่ยงจากการเจือธาตุโบรอน ซึ่งประเทศผู้ผลิตเหล็กในอาเซียนส่วนใหญ่ เช่น ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย บังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดแล้ว ไปเจือธาตุอัลลอยด์ชนิดอื่น เช่น โครเมียม แทน

"ผู้ส่งออกเหล็กจีนไม่เพียงแต่หลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาด แต่ยังใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของโครงสร้างภาษีของรัฐบาลจีนเองด้วย เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลจีนได้ยกเลิกการส่งเสริมการส่งออกเหล็กเจือธาตุโบรอน โดยยกเลิกการคืนภาษีสำหรับการส่งออก (Tax Rebate) ผู้ส่งออกเหล็กจึงเปลี่ยนไปเจือธาตุอัลลอยด์อื่นๆ ที่ไม่ใช่โบรอนแทน ซึ่งรัฐบาลจีนยังคงสนับสนุนให้ Tax Rebate อยู่ เรียกว่าได้กำไรสองเด้งคือ นอกจากไม่ต้องโดนอากรทุ่มตลาดในประเทศ ผู้นำเข้าแล้ว ยังได้เงินสนับสนุน(Subsidy) จากรัฐบาล ทำให้มีแต้มต่อด้านราคาเหนือผู้ประกอบการเหล็กในอาเซียนอีกด้วย นับตั้งแต่รัฐบาลจีนประกาศยกเลิก Tax Rebate เหล็กเจือโบรอนในปี พ.ศ. 2558 ปริมาณเหล็กเจือธาตุอัลลอยด์อื่นๆนำเข้าจากประเทศจีนจำนวนมหาศาลทะลักเข้ามาในตลาดอาเซียน เช่น เหล็กเส้น (Bar) เจืออัลลอยด์ นำเข้าจากจีนเพิ่มจาก 1.5 ล้านตันในปี 2557 เป็น 11 ล้านตันในปี 2558 และ13 ล้านตันในปี 2559 เหล็กแผ่นหนา (Plate) เจืออัลลอยด์ เพิ่มจาก 0.16 ล้านตันในปี 2557 เป็น 2 ล้านตันในปี 2558 และ 2.4 ล้านตันในปี 2559 และเหล็กลวด (Wire Rod) เจืออัลลอยด์ เพิ่มจาก 0.32 ล้านตันในปี 2557 เป็น3.2 ล้านตันในปี 2558 และ 4.3 ล้านตันในปี 2559 " นายอนุวัฒน์กล่าว

ปัญหาการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้ากลายเป็นประเด็นหลักที่ถูกหยิบยกขึ้นหารือในเวทีการประชุม ASEAN-China Steel Dialogue ครั้งที่ 14 ที่เมืองถังชาน ประเทศจีน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดย "สมาพันธ์เหล็กและเหล็กกล้าอาเซียน หรือASEAN Iron and Steel Council (AISC)" ซึ่งมีผู้ประกอบการเหล็กไทยร่วมเป็นภาคี ได้ร้องขอผ่าน สมาคมผู้ประกอบการเหล็กจีน หรือ China Iron and Steel Association (CISA) ให้รัฐบาลจีนช่วยเร่งแก้ปัญหาการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Circumvention) ของสินค้าเหล็กเจืออัลลอยด์ทุกชนิด รวมทั้งเหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดม้วน เหล็กเคลือบ และเหล็กท่อ

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาดและการอุดหนุนที่จะบัญญัติเพิ่มเติมในพ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน ฉบับนี้ก็คือ หากคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน มีคำวินิจฉัยว่ามีการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน ให้เรียกเก็บอัตราอากรในอัตราสูงสุดของสินค้าที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดจากประเทศต้นเหตุของการหลบเลี่ยงนั้น สำหรับระยะเวลาของกระบวนการพิจารณานับตั้งแต่วันประกาศไต่สวนในราชกิจจานุเบกษาจนถึงการดำเนินการให้มีคำวินิฉัยว่ามีพฤติการณ์หลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาดหรือไม่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 9 เดือนและขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 3 เดือน และเมื่อมีการประกาศไต่สวนหากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจต้องมีการเรียกเก็บอากรตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศไต่สวน คณะกรรมการฯอาจขอให้กรมศุลกากรเรียกเก็บหลักประกันอากรตามที่คณะกรรมการฯ มีคำขอได้

"กลุ่มผู้ประกอบการเหล็ก 7 สมาคม อยากวอนขอให้รัฐบาลเร่งออกประกาศบังคับใช้กฎหมายมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาดและการอุดหนุนโดยเร็วที่สุด เพราะจะช่วยอุดช่องโหว่ของมาตรการทุ่มตลาดและการอุดหนุนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยป้องกันสินค้าเหล็กนำเข้าที่มีเจตนาหลบเลี่ยงอากรและเข้ามาขายทุ่มตลาดเหล็กในประเทศอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้กลุ่มผู้ประกอบการเหล็ก 7 สมาคมขอเสนอให้มีการกำหนดบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญาสำหรับผู้กระทำความผิด ทั้งนี้เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น" นายนาวากล่าว

นายอนุวัฒน์ กล่าวเสริมว่า กระทรวงพาณิชย์คงต้องเร่งบังคับใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาดโดยด่วน เพราะหากพิจารณาจากสถานการณ์ในขณะนี้พบว่า มีความเสี่ยงสูงที่เหล็กจีนจะทะลักเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นอีก เนื่องจากรัฐบาลจีนยังไม่สามารถควบคุมปริมาณการผลิตเหล็กส่วนเกินให้ลดลงได้ จากที่ตั้งเป้าว่าจะลดปริมาณลง 20-30ล้านตันต่อปี แต่ปรากฎว่าเมื่อปีที่แล้วปริมาณเหล็กกลับเพิ่มขึ้นกว่า 37 ล้านตัน ประกอบกับประเทศสหรัฐอเมริกากำลังหันไปใช้นโยบายปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศมากขึ้น โดยสินค้าเหล็กจีนเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐที่จะถูกใช้มาตรการทางการค้า ซึ่งที่ผ่านมาสินค้าเหล็กจีนก็เคยถูกผู้ผลิตเหล็กสหรัฐกล่าวหาในเรื่องการหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาด โดยส่งออกสินค้าผ่านทางประเทศที่สาม เช่น เวียดนามและไต้หวัน ด้วยเหตุนี้จึงมีความเป็นได้อย่างมากที่ผู้ส่งออกจีนจะระบายสินค้าเหล็กมายังตลาดอาเซียนเพิ่มมากขึ้น