ฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์
ธรรมชาติที่มักเกิดในช่วงที่มี
พายุฝนฟ้าคะนอง โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล จาก
ฤดูร้อนเข้าสู่
ฤดูฝน และฤดูฝนเข้าสู่
ฤดูหนาว จะมีสถิติการเกิดฟ้าผ่าสูง เนื่องจาก
สภาพอากาศแปรปรวน ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนอง และฟ้าผ่าได้ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย (ปภ.) ขอแนะวิธีป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า ดังนี้
กรณีอยู่กลางแจ้ง
- ไม่หลบพายุฝนบริเวณพื้นที่เสี่ยงฟ้าผ่า โดยเฉพาะใต้ต้นไม้ใหญ่ ใกล้ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้าแรงสูง หรือบริเวณสิ่งปลูกสร้างที่มีส่วนประกอบหลักเป็นโลหะ สระน้ำ แหล่งน้ำ เพราะโลหะและน้ำเป็นสื่อนำไฟฟ้า จึงมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า
- หลีกเลี่ยงการถือวัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าในระดับเหนือศีรษะขึ้นไป โดยเฉพาะร่มที่มีส่วนยอดเป็นโลหะคันเบ็ด จอบ เสียม รวมถึงสวมใส่เครื่องประดับประเภทเงิน ทอง นาก ทองแดง เพราะเป็นสื่อนำไฟฟ้า ทำให้เสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าได้
- งดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด แม้โทรศัพท์ไม่ใช่สื่อนำไฟฟ้า แต่ฟ้าผ่าจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในโทรศัพท์ ซึ่งมีแผ่นโลหะ สายอากาศ และแบตเตอรี่ที่เป็นส่วนผสมของโลหะ ทำให้ได้รับอันตรายจากการถูกฟ้าผ่า
- หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง อาทิ เล่นกีฬา ว่ายน้ำ ทำการเกษตร โดยเฉพาะบริเวณสระน้ำ ทะเล ชายหาด สนามฟุตบอล สนามกอล์ฟ ภูเขาสูง ทุ่งนา เพราะเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่า
- กรณีไม่สามารถหลบในบริเวณที่ปลอดภัยได้ ให้นั่งยองๆ เท้าชิดกัน พร้อมเขย่งปลายเท้าให้สัมผัสพื้นน้อยที่สุด ก้มศีรษะและซุกเข้าไประหว่างขา จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า
กรณีอยู่ในอาคาร
- ควรอยู่ในอาคารที่มีสายล่อฟ้า ห้ามขึ้นไปบนดาดฟ้า บริเวณมุมตึก ระบียงด้านนอกของอาคาร ไม่อยู่ใกล้ประตูหรือหน้าต่างที่เป็นโลหะระหว่างที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เนื่องจากเป็นพื้นที่โล่งและมีสื่อนำไฟฟ้า ทำให้เสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าได้
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์แบบมีสาย เครื่องทำน้ำอุ่น เพราะหากฟ้าผ่าลงมาภายนอกอาคาร กระแสไฟฟ้าจะวิ่งลงมาตามเสาอากาศ เสาสัญญาณ สายไฟฟ้า และท่อน้ำประปา ทำให้อุปกรณ์ได้รับความเสียหายและผู้ใช้งานได้รับอันตราย เพื่อความปลอดภัย ในช่วงที่เกิด พายุฝนฟ้าคะนอง ควรถอดสายไฟฟ้า สายอากาศ สายโทรศัพท์ สายโมเด็ม จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากฟ้าผ่า
กรณีขับรถ
- จอดรถในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่จอดใกล้ต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ที่อยู่สูงโดดเด่น โดยเฉพาะป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้าแรงสูง เพราะฟ้าอาจผ่าลงมาบริเวณดังกล่าว ทำให้ได้รับอันตราย
- หลบในรถพร้อมปิดประตูและหน้าต่าง ไม่สัมผัสกับตัวถังรถที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะ ขณะที่เกิดฟ้าผ่าห้ามวิ่งลงจากรถ เพราะกระแสไฟฟ้าจะไหลไปตามผิวโลหะของตัวถังรถสู่พื้นดิน ทำให้เกิดอันตรายได้
การช่วยเหลือผู้ถูกฟ้าผ่า
- เคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปอยู่ในบริเวณที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการถูกฟ้าผ่าซ้ำ โดยสามารถสัมผัสตัวผู้ถูกฟ้าผ่าได้ทันที เนื่องจากไม่มีกระแสไฟฟ้าอยู่ในตัวแล้ว
- ปฐมพยาบาลผู้ถูกฟ้าผ่าเบื้องต้น โดยการผายปอดและปั๊มหัวใจเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำผู้ประสบเหตุ ส่งสถานพยาบาล เพื่อทำการรักษาต่อไป
ทั้งนี้ การเรียนรู้วิธีป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าและเพิ่มความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง