นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (30 พ.ค. 60) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 41,005 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำปีนี้มากกว่าปี 2559 รวม 8,225 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 17,186 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 9,035 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 10,940 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำปีนี้มากกว่าปี 2559 รวม 2,856 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้4,244 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 1,388 ล้าน ลบ.ม.) เขื่อนใหญ่ทั้งประเทศยังสามารถรองรับน้ำได้ประมาณ 34,207 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 45
สำหรับสภาพน้ำท่าในลำน้ำสายหลักทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับน้ำยังอยู่ต่ำกว่าตลิ่งและสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก อีกทั้งกรมชลประทานได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 677 ลบ.ม./วินาที ยังไม่ส่งกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ฝนที่ตกหนักในช่วง 1 – 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนทำ ให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำหลายแห่ง ปัจจุบันส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว คงเหลือในบางพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขัง อาทิ พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก กรมชลประทานได้ประสานกับ กฟผ. ให้ลดการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ จากวันละ 23 ล้าน ลบ.ม. เหลือ 5.5 ล้าน ลบ.ม. อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ระดับน้ำในแม่น่านลดต่ำลง ช่วยให้การระบายน้ำจากแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่านได้เร็วมากขึ้น พร้อมกับปิดการรับน้ำจากแม่น้ำน่าน และเร่งการระบายน้ำจากแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่าน นำรถไฮโดรลิคเสริมคันกั้นน้ำจุดสุ่มเสี่ยง 4 คัน และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 34 เครื่อง ระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรประมาณ 14,000 ไร่ สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกเขตชลประทาน อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว คงเหลือพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรที่ยังมีน้ำท่วมขัง โครงการชลประทานสุโขทัย ได้นำเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ จำนวน 2 เครื่อง พร้อมกับรื้อทำนบดินชั่วคราว ในแม่น้ำยมสายหลัก 2 แห่ง และนำรถแบ็คโฮบูมยาวมาตักและกำจัดสวะที่กีดขวางทางน้ำบริเวณ ปตร. วังสะตือ รวมทั้งเร่งระบายน้ำในแม่น้ำยมผ่านคลองระบาย DR – 15.8 กับคลอง DR-2.8 ไปลงแม่น้ำน่าน ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในทุ่งบางเคียน อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 6 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังประมาณ 1,500 ไร่ คาดว่าจะไม่มีพื้นที่การเกษตรเสียหาย
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่าง ที่มีฝนตกหนักระหว่างวันที่ 24 – 26 พ.ค. 60 วัดปริมาณฝนสะสมได้รวม420 มิลลิเมตร ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรบริเวณทุ่งสองพี่น้อง ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา ประมาณ 70,000 ไร่ กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ บริเวณ ปตร. สองพี่น้อง จำนวน 6 เครื่อง พร้อมกับเดินเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำ ปตร. สองพี่น้องทั้ง 6 เครื่อง รวมทั้งยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนอีก 15 เครื่อง ในพื้นที่ปิดล้อมทุ่งสองพี่น้อง เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังออกให้มากที่สุด เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ส่วนที่ทุ่งบางบาล มีน้ำท่วมขังในที่ลุ่มต่ำ 28,000 ไร่ ส่งเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยระบายน้ำแล้ว 13 เครื่อง และทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก มีน้ำท่วมขังประมาณ 13,980 ไร่ ได้เร่งระบายน้ำลงคลองชัยนาท-ป่าสัก ผ่าน ปตร. 6 แห่ง เพื่อระบายลงคลองชัยนาท-ป่าสักแล้ว
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวง กล่าวว่า ขณะนี้ได้ปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวง ในเดือนมิถุนายน 2560 โดยจะปิดหน่วยฯ ฝนหลวงชั่วคราว 3 หน่วย ได้แก่ หน่วยพิษณุโลก ขอนแก่น และหัวหิน เนื่องจากในพื้นที่การเกษตรมีน้ำเพียงพอ และปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนค่อนข้างดี ทั้งนี้ สาเหตุในการปิดหน่วย ทั้ง 3 นั้น เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อย ซึ่งเป็นการปิดหน่วยชั่วคราว หากมีฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ที่ปิดหน่วยไป ก็จะกลับมาปฏิบัติภารกิจเช่นเดิม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit