นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้บูรณาการความร่วมมือกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2560 ภายใต้งบประมาณ 60 ล้านบาท เพื่อสร้างเครือข่ายและยกระดับ SME ในอุตสาหกรรมมะพร้าวและสมุนไพรตลอดห่วงโซ่การผลิต มุ่งสนับสนุนการนำผลงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในเชิงพาณิชย์ พร้อมรองรับการขยายตัวของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"การสนับสนุนเครือข่าย SME ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว สสว. ร่วมมือกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม โดยเน้นส่งเสริมผู้ประกอบการต้นน้ำเป็นหลัก เนื่องจากผลผลิตในปัจจุบันไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ประกอบกับการขาดแคลนแรงงาน จึงต้องพึ่งพิงการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ เฉพาะในปี 2560 ประเมินจากการขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการรายใหญ่และการเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการรายใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว คาดว่าการส่งออกมะพร้าวของไทยจะมีมูลค่า 17,492 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 ในระยะยาวยังคงมีแนวโน้มเติบโตตามกระแสนิยมบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ SME ไทยจึงควรพยายามเร่งผลผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อจะไม่พลาดโอกาส
โครงการคลัสเตอร์ในครั้งนี้ กลุ่มธุรกิจมะพร้าวที่จะเน้นคือ การผลิตกะทิสำเร็จรูป เครื่องดื่มน้ำมะพร้าว และเครื่องสำอางที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 กลุ่มนี้ตลาดมีอัตราการเติบโตสูง ในขณะที่ผลผลิตมีข้อจำกัดด้านวัตถุดิบ คือ ปลูกมะพร้าวได้น้อยกว่าความต้องการ ดังนั้น สสว. และสถาบันอาหารร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งรวมถึงภาคเอกชน จะสนับสนุนให้มีการเพิ่มผลผลิต ด้วยการให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูก และพันธุ์มะพร้าวคุณภาพ ได้กำหนดพื้นที่ในพื้นที่อีสาน เช่น อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด หรือใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการเพิ่ม
มูลค่าในเรื่องของการบ่งบอกต้นกำเนิดของผลิตภัณฑ์ ( Geographic Indication) เช่น ในพื้นที่เกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี และในส่วนกระบวนการผลิตจะเน้นในเรื่องยืดอายุ (Shelf Life) การลดกลิ่นของมะพร้าวในกลุ่มเครื่องสำอางเป็นสำคัญสำหรับคลัสเตอร์สมุนไพร เน้นเรื่องการนำสมุนไพรมาผลิตเป็นอาหารเสริม ยาใช้ทาภายนอก และเครื่องสำอาง ซึ่งตลาดมีความต้องการสมุนไพรประเภทออแกนิกส์ ในขณะที่สมุนไพรของไทยมีผลผลิตเพียงพอ แต่ยังไม่เป็น ออแกนิกส์ โดย มทร. ธัญบุรีจะร่วมกับสมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพรไทยให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SME เกษตรทั่วประเทศ เช่น เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น สกลนคร พังงา นครศรีธรรมราช สระบุรี และจันทบุรี ในส่วนของกระบวนการผลิตต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยในการลดความชื้นของสมุนไพร การรับรองมาตรฐานการผลิตโดยจดทะเบียน อย. และพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทใหม่ๆให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ เช่น แผ่นมาส์กบำรุงหน้า สเปรย์น้ำแร่ฉีดหน้าจากสมุนไพร เป็นต้น
สสว. ตั้งเป้าจะรวบรวมกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว รวม 25 เครือข่าย ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาศักยภาพ จำนวน 3,300 ราย และกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร รวม 5 เครือข่าย ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาศักยภาพ จำนวน 700 ราย รวมเป็นผู้ประกอบการ จำนวน 4,000 ราย" นางสาลินี กล่าว
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมในกลุ่มมะพร้าวมีการส่งออกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในปี 2559 มีมูลค่าส่งออก 14,544 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 ตลาดส่งออกหลักของไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนร้อยละ 30.3 รองลงมาคือสหภาพยุโรป และจีน มีสัดส่วนร้อยละ 28.3 และ 10.9 ตามลำดับ โดยจีนถือเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงสุดถึงร้อยละ 100.2 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2555 – 2559) ซึ่งเป็นผลจากความนิยมบริโภคน้ำกะทิเป็นเครื่องดื่มของชาวจีน โดยผลิตภัณฑ์ส่งออกมะพร้าวที่สำคัญของไทย ได้แก่ กะทิสำเร็จรูป (75.1%) มะพร้าวอ่อน (14.5%) มะพร้าวแห้ง (5.4%) มะพร้าวสด (2.5%) และน้ำมันมะพร้าว(2.4%) โดยผลิตภัณฑ์มะพร้าวสดขยายตัวโดดเด่นที่สุด คิดเป็น ร้อยละ 178.9 จากความต้องการของประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รองลงมาคือน้ำมันมะพร้าว ขยายตัว ร้อยละ 60.4
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถาบันอาหารได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานดำเนินการโครงการสนับสนุนเครือข่ายSME ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าว โดยมีกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน 5 เดือน (พ.ค. - ก.ย. 2560) ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวน 3,300 ราย เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่ม 25 เครือข่ายตามเป้าหมาย เกิดการพัฒนาศักยภาพผู้ประสานงานเครือข่าย (Cluster Development Agent-CDA)จำนวนไม่น้อยกว่า 70 ราย ทั้งนี้จะนำผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้าไปจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพการดำเนินการธุรกิจให้กับกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการในแต่ละกลุ่ม อาทิ จัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หลักสูตรมาตรฐานการผลิต หลักสูตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หลักสูตรการพัฒนาคลัสเตอร์ เพื่อให้จัดทำแผนการพัฒนา
กลุ่มคลัสเตอร์ ทั้งระยะสั้น (1 ปี) ระยะกลาง (3 ปี) และระยะยาว (5 ปี) หลักสูตรการตลาดและการสร้างแบรนด์เชิงสร้างสรรค์สำหรับผู้นำเครือข่ายมะพร้าวไทยรวมถึงการทำเวิร์คชอป
นอกจากนี้ยังให้การส่งเสริมผ่านช่องทางการตลาดออฟไลน์ ได้แก่ การนำสินค้าที่ได้รับการคัดเลือกไปจำหน่ายในงานแสดงสินค้าต่างประเทศหรือจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจภายในประเทศ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ โดยการทำ E-market Place ให้แต่ละกลุ่มคลัสเตอร์ทั้งหมด 25 กลุ่ม ผ่านทาง Lazada/Tarad/Truemart เป็นต้น เป็นระยะเวลา 1 ปี และจัดให้มีการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย โดยจัดทำเว็บไซต์ของแต่ละกลุ่มคลัสเตอร์ โดยจัดทำเป็น Coconut Pavilion เพื่อเป็นต้นแบบในการเชื่อมโยงทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศอีกด้วย
นายพงศ์พิชญ์ ต่วนภูษา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า สำหรับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ในกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย เพื่อยกระดับผู้ประกอบการทั้ง ต้นน้ำ ได้แก่ กลุ่มผู้ปลูกสมุนไพร กลางน้ำ ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกอบการที่แปรรูปสมุนไพรเป็นเครื่องสำอาง กลุ่มผู้ประกอบการที่แปรรูปสมุนไพรเป็นยา กลุ่มผู้ประกอบการที่แปรรูปสมุนไพรเป็นอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มปลายน้ำคือกลุ่มผู้จำหน่าย ค้าปลีกและค้าส่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้จากสมุนไพร โดยมีเป้าหมายในปี 2560 ให้เกิดการรวมกลุ่ม 5 เครือข่าย ยกระดับผู้ประกอบการจำนวน 700 ราย โดยใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้ให้มีผลิตภาพในด้านต่างๆ สูงขึ้น และมีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพผู้ประสานงานเครือข่าย (Cluster Development Agent-CDA) ให้เป็นผู้นำในการพัฒนาในด้านต่างๆจำนวน 10 ราย ซึ่งจะมีการจัดการประชุมและให้ความรู้กับผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมโครงการในทุกภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ (เชียงใหม่ พิษณุโลก) ภาคอีสาน (ขอนแก่น สกลนคร) ภาคใต้ (พังงา นครศรีธรรมราช) และภาคกลาง (สระบุรี จันทบุรี)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit