ดร. โอฬาร โชว์วิวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมนมทั่วโลกในปี พ.ศ.2559 มีการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวัดจากปริมาณความต้องการบริโภคน้ำนมทั่วโลกที่มีสูงถึง 182.29 ล้านตัน หรือคิดเป็นการเติบโต1.6% จากปีก่อนหน้า โดยประเทศอินเดียมีการบริโภคน้ำนมสูงที่สุดคือ 62.75 ล้านตัน รองมาคือสหภาพยุโรป 34 ล้านตัน และสหรัฐอเมริกา 26.52 ล้านตัน ส่วนประเทศไทยในปีที่ผ่านมามีการบริโภคนมพร้อมดื่มอยู่ที่ 1.046 ล้านตัน โดยปีนี้คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.087 ล้านตัน หรือเติบโตขึ้นราว 1.67% กล่าวคือคนไทยดื่มนมเฉลี่ยอยู่ที่ 18 ลิตร/คน/ปี
ในขณะที่ภาพรวมการผลิตน้ำนมดิบพบว่า ในปีที่ผ่านมาทั่วโลกสามารถผลิตน้ำนมดิบได้ถึง 499 ล้านตัน โดยสหภาพยุโรป สามารถผลิตน้ำนมดิบได้มากที่สุด ในปริมาณ 151.60 ล้านตัน รองลงมาคือประเทศสหรัฐอเมริกา ผลิตน้ำนมดิบได้ในปริมาณ96.34 ล้านตัน และตามด้วยประเทศอินเดีย ที่ผลิตน้ำนมดิบได้ในปริมาณ 68 ล้านตัน โดยในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำนมดิบได้มากที่สุด วันละ 3,300 ตัน หรือปีละประมาณ 1.20 ล้านตัน รองมาคือเวียดนามวันละ 3,205 ตันหรือปีละประมาณ 1.17 ล้านตัน และอินโดนีเซียวันละ 2,334 ตันหรือปีละประมาณ 0.85 ล้านตัน และประเทศไทยยังมีปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 231,002 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 16,472 ล้านบาท ส่วนการส่งออกมีปริมาณ163,804 ตัน เติบโตขึ้น 13.63% และมีมูลค่าผลิตภัณฑ์ส่งออก 6,995 ล้านบาท เติบโตขึ้น 9.88% ทั้งนี้ ในปี 2560 คาดว่า การนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์นมจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากบรรดาผู้ประกอบการต่างๆ มีการขยายกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกับปริมาณผลผลิตน้ำนมดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการเข้าสู่เวทีการค้าเสรีในข้อตกลงต่างๆ นับตั้งแต่ในปี 2553 ที่มีการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) สินค้านมพร้อมดื่มมีภาษีนำเข้าและส่งออกเป็น 0% โดยภาพรวมประเทศไทยได้เปรียบเพราะมีศักยภาพด้านการผลิตมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ขณะที่ในปี 2568 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า องค์การการค้าโลก (WTO) ต้องการให้ประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนาเปิดเสรีทางการค้าขึ้น นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์นมยังเป็นสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ซึ่งจะปลอดภาษีนำเข้าและส่งออกโดยสมบูรณ์ในปี 2568 เช่นกัน ดังนั้นประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น การเริ่มปรับกลไกการบริหารจัดการนมภายในประเทศให้เป็นไปตามกลไกของตลาดโลก โดยยึดคุณภาพน้ำนมเป็นมาตรฐานหลักในการกำหนดหรือให้ราคา เพื่อขยายตลาดส่งออกของนมไทยไปยังตลาดโลก ในส่วนภาคเกษตรกรโคนมไทยจะต้องพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้มีศักยภาพเพื่อเพิ่มโอกาสของนมไทยในการแข่งขันเสรีในตลาดโลก ภาคอุตสาหกรรมต้องมีการปรับมาตรฐานในการผลิต การขนส่ง การจัดจำหน่าย รวมถึงการทำการตลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ในส่วนภาครัฐควรสนับสนุนให้เริ่มปรับกลไก รวมถึงระเบียบข้อกฎหมายในเรื่องการควบคุม เพื่อมุ่งสู่กลไกของตลาดการค้าเสรีและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตร ผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรมในเชิงบูรณาการ
ซึ่งการเปิดเสรีการค้านี้เป็นโอกาสสำคัญในการขยายตัวของอุตสาหกรรมนมของประเทศไทย หากมีการเตรียมความพร้อมที่เหมาะสมอุตสาหกรรมนมไทยจะสามารถมีอำนาจการต่อรองในเชิงธุรกิจกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญในเวทีโลก ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนแล้ว อุตสาหกรรมนมไทยมีความได้เปรียบในด้านศักยภาพการผลิตอีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
"จากสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งอัตราการบริโภคน้ำนมโคที่สูงขึ้น ปริมาณการผลิตน้ำนมดิบยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาด และการเปิดเวทีเสรีทางการค้าในข้อตกลงต่างๆ จึงเป็นที่มาในการตอกย้ำวิสัยทัศน์ของโฟร์โมสต์ในโอกาสครบรอบ 60 ปีแห่งการดำเนินงานในประเทศไทย คือการมุ่งสานต่อเจตนารมณ์ในการส่งมอบนมโคคุณภาพ 100%พร้อมสนับสนุนเกษตรกรโคนมไทยและผลักดันภาคอุตสาหกรรมนมไทยให้มีศักยภาพ และผลิตน้ำนมโคได้อย่างมีคุณภาพ ภายใต้แนวคิด "Nourishing by Nature – ให้ธรรมชาติดูแลคุณ" เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนทางด้านสุขภาพและโภชนาการที่ดีแก่ผู้บริโภค ประกอบด้วย Better nutrition for the world ผลิตนมคุณภาพมาตรฐานจากเนเธอร์แลนด์เพื่อผู้บริโภคชาวไทย A good living for our farmers บริษัทมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเกษตรกรโคนมไทย และ Now and for generations to come บริษัทสนับสนุนกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ฟาร์มโคนมและสหกรณ์โคนมที่โฟร์โมสต์ร่วมดำเนินงานด้วยตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทยกว่า 4,000 แห่ง มีทักษะด้านการบริหารจัดการฟาร์มโคนม โดยการนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการทำฟาร์มโคนมจากประเทศเนเธอร์แลนด์มาแบ่งปันให้กับเกษตรกรโคนมชาวไทย ภายใต้ โครงการพัฒนาฟาร์มไทยก้าวไกลสู่มาตรฐานโลก (Dairy Development Program) เพื่อยกระดับคุณภาพของน้ำนมดิบอย่างยั่งยืน พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการให้ผลผลิตของโคนม ส่งเสริมเกษตรกรโคนมชาวไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเพื่อให้ครอบครัวคนไทยทุกคนได้รับคุณค่าทางโภชนาการที่ดีที่สุด โดยมีกิจกรรมหลักได้แก่ เกษตรกรพบเกษตรกร (Farmers to Farmers) คือการนำเกษตรกรโคนมที่ได้รับการรับรองจากเนเธอร์แลนด์มาถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางด้านเทคนิคการทำฟาร์มโคนมกับเกษตรกรโคนมชาวไทย โดยหลักการอบรม 7 แนวทางสำคัญ (7 Diamonds) ประกอบด้วย การจัดการอาหารและน้ำ การเลี้ยงลูกโค การรีดนม ความสมบูรณ์พันธุ์ การดูแลกีบ การออกแบบโรงเรือน และการบันทึกข้อมูล" ดร.โอฬาร กล่าว
ดร. โอฬาร กล่าวต่อว่า "ในปีนี้บริษัทฯ เตรียมใช้งบลงทุนรวมกว่า 15 ล้านบาท ในการสนับสนุนเกษตรกรโคนมไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น และการผลิตน้ำนมโคอย่างมีคุณภาพ โดยกิจกรรมที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญในปีนี้คือโครงการ "โฟร์โมสต์สานพลังประชารัฐพัฒนาเกษตรกรโคนมไทย" ที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการนำผู้เชี่ยวชาญด้านการทำฟาร์มโคนมจากประเทศเนเธอร์แลนด์มาถ่ายทอดความรู้ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการทำฟาร์มโคนมมาใช้ในโครงการนำร่องต่างๆ รวมถึงการวางแผนจัดทำระบบการขนส่งน้ำนมดิบเพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ นอกจากนี้ยังจัดทำโครงการ "หลักสูตรพัฒนาคุณภาพโคนมแห่งชาติ" ที่เกิดจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ได้แก่บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรโคนมไทยทั่วประเทศ และยกระดับมาตรฐานเกษตรกรรมโคนมและคุณภาพน้ำนมดิบ รวมถึงการส่งเสริมอาชีพพระราชทานการเลี้ยงโคนมให้มีความยั่งยืน"
"สำหรับเป้าหมายการผลิตน้ำนมดิบในปีนี้ บริษัทฯ คาดหวังว่าเกษตรกรโคนมไทยภายใต้โครงการ "โฟร์โมสต์สานพลังประชารัฐพัฒนาเกษตรกรโคนมไทย" จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบคุณภาพเฉลี่ยจาก 13 กิโลกรัม/ตัว/วัน เป็น 18 กิโลกรัม/ตัว/วัน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรโคนมในโครงการฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 45 ล้านบาท/ปี ภายใต้ภาพรวมอุตสาหกรรมนมในประเทศไทยที่มีมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท โดยบริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์เล็งเห็นว่า ปัจจัยที่จะสามารถผลักดันให้อุตสาหกรรมนมเติบโตได้เพิ่มขึ้น นั่นคือการยกระดับอุตสาหกรรมนมทั้งห่วงโซ่อุปทาน เริ่มจากการสนับสนุนให้เกษตรกรโคนมแข่งขันกันด้วยคุณภาพ โดยผลักดันให้เกษตรกรมีการพัฒนาศักยภาพอยู่ตลอดเวลาเพื่อการผลิตน้ำนมโคคุณภาพให้กับผู้บริโภค ภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนาและยกระดับการผลิต การขนส่งและจัดจำหน่าย สนับสนุนให้มีการเปิดเสรีด้านกลไกราคาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้อุตสาหกรรมมีการปรับตัวตามกลไกราคาของตลาดการค้าเสรีและอุตสาหกรรม ในราคาที่แข่งขันได้เพื่อพร้อมรับการเปิดเสรีการค้า รวมไปถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยมุ่งส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกร อุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในเชิงบูรณาการ" ดร. โอฬารกล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit