จังหวัดสุพรรณบุรี-วันนี้ (6 มิถุนายน 2560) นายเสรี กังวานกิจ พลังงานจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนกล้วยอู่ทอง ตำบลจรเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางเกษตรให้ชุมชนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ด้วยกระบวนการแปรรูป อาทิ กล้วยอบ กล้วยตาก ข้าวเกรียบรสต่างๆ เป็นต้น แต่ด้วยกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมทำให้ประสบปัญหาเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ได้ไม่ค่อยมีคุณภาพตามมาตรฐาน และยังมีต้นทุนค่าพลังงานค่อนข้างสูงจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงแอลพีจีเป็นหลัก ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่สำรวจชุมชนของสำนักงานพลังงานจังหวัดสุพรรณบุรี ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในชุมชนเพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในกระบวนการผลิตของชุมชนที่ด้วยการส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน เพื่อต่อยอดสู่การเพิ่มมูลค่าผลผลิต พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมด้านการตลาด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนให้ดีขึ้น ซึ่งพบว่าการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจสวนกล้วยอู่ทองมีศักยภาพที่จะส่งเสริมด้านพลังงานทดแทนในกระบวนการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ ดังนั้น ทางสำนักงานพลังงานจังหวัดสุพรรณบุรี จึงได้ร่วมกับจังหวัดสุพรรณบุรี ในการสนับสนุนโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดังกล่าว
พลังงานจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวต่อว่า ภายหลังจากที่ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากแบบดั้งเดิมมาใช้โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนกล้วยอู่ทอง สามารถลดปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจี ในขั้นตอนการผลิตได้จำนวน 20 ถังต่อเดือน คิดเป็นเงินจำนวน 84,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ยังสามารถประหยัดเวลาต่อรอบการผลิตจากเดิมที่ต้องใช้เวลาใช้เวลามากถึง 4 วัน เหลือเพียง 2 วันเท่านั้น รวมถึงยังสามารถลดความเสียหายของวัตถุดิบลงได้ 5% หรือคิดเป็นเงินจำนวน 3,500 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ ด้วยระบบการผลิตที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นทำให้สามารถต่อยอดไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ อาทิ ก้านเผือก มะเขือเทศเชอรี่อบแห้ง และข้าวแต๋น เป็นต้น ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดังกล่าวมีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์แปรรูป 4-5 หมื่นบาทต่อเดือน
"กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนกล้วยอู่ทอง ถือเป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จและเป็นต้นแบบการใช้พลังงานทดแทนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างชัดเจน ปัจจุบันทางกลุ่มได้มีการพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยี และการจัดการองค์ความรู้ จนสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงานและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบครบวงจร พร้อมทั้งได้รับรางวัลการันตีศักยภาพของกลุ่มในระดับจังหวัด 3 รางวัลด้วยกัน คือ รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง วิสาหกิจชุมชนดีเด่น ปี 2558 รางวัลผู้ประกอบการ OTOP ดีเด่น ปี 2559 และรางวัลชมเชยวิสาหกิจชุมชนดีเด่น ปี 2560 นอกจากนี้ยังมีสิทธิ์ลุ้นเป็นสุดยอดคนพลังงานในระดับจังหวัดและระดับภาค จากเวทีการประกวด "สุดยอดคนพลังงาน" ประจำปี 2560 ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ของกระทรวงพลังงาน อีกด้วย" พลังงานจังหวัดกล่าว