นายพรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์การผลักดันผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คือการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจและอุตสาหกรรมร่วมกัน หรือที่เรียกกันว่าการสร้างคลัสเตอร์ เข้ามาเป็นพื้นฐานในการดำเนินงาน ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญเพราะเป็นแนวทางที่ก่อให้เกิดความร่วมมือในด้านต่างๆและเป็นการเชื่อมโยงซึ่งกันและกันอย่างครบวงจร โดยเริ่มตั้งแต่การพัฒนากิจกรรมระหว่างกันในภาคอุตสาหกรรม การถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ซึ่งสามารถช่วยให้ธุรกิจเกิดการปรับปรุงทั้งประสิทธิภาพการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการ รวมทั้งการผสมผสานแนวคิดและการมีส่วนร่วมเพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินงานจากการแข่งขันเพียงเพื่อความอยู่รอดของแต่ละบุคคล มาเป็นพันธมิตรร่วมคิดและร่วมทำ ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังเป็นนโยบายสำคัญหลักของรัฐบาลที่จะพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางอุตสาหกรรมของไทย อีกทั้งยังเป็นแนวคิดที่เป็นที่นิยมในระดับนานาอารยะประเทศและประสบความสำเร็จในกลุ่มที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมาแล้วอย่างมากมายอีกด้วย
นายพรเทพ กล่าวเพิ่มเติม ตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันการสนับสนุนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ช่วยให้เกิดการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายธุรกิจรวมแล้วทั้งหมด 86 กลุ่มอุตสาหกรรม ผลจากการดำเนินกิจกรรมและโครงการต่างๆช่วยให้เกิดความร่วมมือกันในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพูนประสิทธิภาพและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีระหว่างองค์กร/กิจการ การนำนวัตกรรมที่มีมาแบ่งปันและใช้ร่วมกัน การพึ่งพาวัตถุดิบในการประกอบอุตสาหกรรม เกิดการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นผู้ประกอบการยังรู้จักที่จะสร้างช่องทางทางการตลาดใหม่ๆ ทั้งยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ยังพบอีกว่าการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ในปี 2559 ที่ผ่านมายังก่อให้เกิดมูลค่ายอดขายได้ถึง 50,639 ล้านบาท สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกได้ 1,557 ล้านบาท และยังลดต้นทุนทางการดำเนินธุรกิจ/อุตสาหกรรมได้อีก 103 ล้านบาท โดยคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่สามารถเพิ่มยอดขายหลังจากเกิดการรวมกลุ่ม 3 อันดับแรก ได้แก่ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง คลัสดตอร์อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ทั้งนี้ จากมาตรการการส่งเสริมการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ ยังเชื่ออีกว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้ระดับการเติบโตของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของ SMEs (GDP SMEs) เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 3 – 4 (ที่มา:สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)) ตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้วางเอาไว้
สำหรับภารกิจในการส่งเสริมการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ในปี 2560 และในอนาคต กสอ.ยังคงมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญและนำมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ซึ่งจะจัดทำโครงการและกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาธุรกิจเชิงนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งยังจะส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มธุรกิจและเชื่อมโยงกับกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันในระดับต่างประเทศ อาทิ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กลุ่มCLMV หรือระดับอื่นๆตามที่แต่ละอุตสาหกรรมมีศักยภาพ รวมถึงจะเร่งรวมกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อก่อให้เกิดการรวมตัวที่เรียกว่าซูเปอร์คลัสเตอร์ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน เพื่อรองรับการความต้องการในตลาดผู้บริโภคในรูปแบบใหม่ ๆ ให้สอดคล้องทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศต่อไป
อย่างไรก็ดี กสอ.ยังได้กำหนดจัดกิจกรรม "CLUSTER DAY 2017 " ซึ่งได้มีการจัดจำหน่ายสินค้าคุณภาพจากผู้ประกอบการกลุ่มคลัสเตอร์ต่าง ๆ มากกว่า 100 ร้านค้าใน 18 กลุ่มคลัสเตอร์ อาทิ อาหารแปรรูปเพื่อสุขภาพ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม เครื่องสำอาง อัญมณีและเครื่องประดับรวมทั้งสินค้าในสาขาอื่น ๆ ให้กับผู้บริโภคโดยตรง ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสในการขยายช่องทางตลาด และก่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มคลัสเตอร์ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดการสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการ ทำให้อุตสาหกรรมไทยมีความเข้มแข็งและสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 - 9 มิถุนายน 2560 ณ อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่ากิจกรรมดังกล่าวจะสามารถสร้างยอดขายให้กับผู้ประกอบการรวมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 02-2024538 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th