ในงานสัมมนาหัวข้อ The GMS and Its Major Trade Partners นายโรหิท คันนา ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศกลุ่ม GMS มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ โดยกลุ่ม GMS เป็นประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะไทยที่มีเขตแดนติดกับประเทศดังกล่าว ในช่วงปีที่ผ่านมา กรุงศรีมีส่วนร่วมในการนำเสนอช่องทางการระดมทุนของรัฐบาล สปป.ลาวและบริษัทพลังงานชั้นนำใน สปป. ลาว ธนาคารยังมุ่งที่จะมีบทบาทในการสนับสนุนช่องทางการระดมทุนของกลุ่มประเทศ GMS เช่น สหภาพเมียนมาร์ และกัมพูชา และสนับสนุนนักธุรกิจไทยที่ต้องการขยายธุรกิจและการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ กรุงศรียังมีศักยภาพในการผสานกำลังกับกลุ่ม MUFG เพื่อให้บริการการเงินแบบครบวงจร supply chain ให้บริษัทญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยและสนใจลงทุนในกลุ่มประเทศ GMS ด้วย
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัล แบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ Digitalization and E-Commerce Boom in GMS ว่า กรุงศรีมองเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบข้ามพรมแดน บริการชำระเงินระหว่างประเทศ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจที่ลงทุนในกลุ่มประเทศ GMS โดยการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มีโอกาสเติบโตสูงมากตามจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือและผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ธนาคารเน้นย้ำความสำคัญด้านความปลอดภัยของข้อมูลพร้อมระมัดระวังอย่างเต็มที่ในการป้องกันภัยคุกคามด้านไซเบอร์ โดยได้ลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อมั่นใจในความปลอดภัยสูงสุด ทั้งนี้ กลุ่มประเทศ GMS ซึ่งที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาด้านเทคโนโลยี จะมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้และนำมาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้
นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ Experiences and Challenges in Greater Mekong Expansion ว่า จากเครือข่ายและการขยายธุรกิจของกรุงศรีซึ่งครอบคลุมในกลุ่มประเทศ GMS ทำให้ธนาคารได้เรียนรู้และมีประสบการณ์หลากหลายด้าน อย่างเช่นในเรื่องของคนท้องถิ่น ระเบียบข้อปฏิบัติของแต่ละประเทศ และการบริหารจัดการความเสี่ยงทั้งในและนอกประเทศ นอกจากนี้ เราพบว่ากิจกรรมการค้าในกลุ่มประเทศ GMS ยังมีโอกาสในการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกมาก แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนต้องยอมรับคือสกุลเงินท้องถิ่นในกลุ่มประเทศ GMS ไม่ได้เป็นสกุลเงินสากลและยังมีข้อจำกัด สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงมีความสำคัญในการทำการค้าของกลุ่มประเทศนี้ ดังนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่นักลงทุนควรจะต้องรู้จักกลยุทธ์ในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งกรุงศรีมีโซลูชั่นและประสบการณ์ที่จะช่วยนักลงทุนบริหารจัดการในเรื่องนี้ รวมถึงการหาพาร์ทเนอร์ในการทำธุรกิจ ซึ่งกรุงศรีสามารถช่วยในเรื่องดังกล่าวได้เช่นกัน