สมาคม CFA เซ็น MOU หนุนนักการเงินร่วมผลักดันโครงการต้านทุจริต

06 Jun 2017
สมาคม ซีเอฟเอ ไทยแลนด์ (CFA Society Thailand) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต (CAC) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักวิเคราะห์การเงินที่เป็นสมาชิกของสมาคมสามารถเข้ามามีบทบาทในการผลักดันให้บริษัทธุรกิจเอกชนเข้ามาร่วมโครงการ CAC ซึ่งจะช่วยขยายวงของการทำธุรกิจอย่างโปร่งใส และสร้างระบบนิเวศน์ของธุรกิจสะอาดในประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
สมาคม CFA เซ็น MOU หนุนนักการเงินร่วมผลักดันโครงการต้านทุจริต

ภายใต้ MOU ฉบับนี้ CFA Society Thailand จะส่งเสริมให้สมาชิกของสมาคมเข้ามาร่วมทำหน้าที่เป็นผู้แทน CAC (CAC Advocate) ไปดำเนินการให้บริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ หรือ บริษัทอื่นๆ เข้ามาร่วมประกาศเจตนารมณ์ และดำเนินการเพื่อให้ผ่านการรับรองจาก CAC ทั้งนี้ เครือข่ายสมาชิกที่กว้างขวางของสมาคมซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรมต่างๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้โครงการ CAC สามารถเข้าถึงกลุ่มธุรกิจที่ยังไม่ได้เข้ามาร่วมโครงการ หรือมีความเสี่ยงด้านการทุจริตอยู่ในระดับสูง

"การที่ CFA Society Thailand เข้ามาร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของ CAC เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าในภาคเอกชนมีหน่วยงานที่เห็นความสำคัญของการทำธุรกิจอย่างโปร่งใส และพร้อมจะเข้ามาร่วมวงมากขึ้นๆ จะเห็นได้ว่าโมเมนตั้มของการต่อต้านทุจริตในภาคเอกชนกำลังก่อตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ" ดร. บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการ CAC และ กรรมการผู้อำนวยการ IOD กล่าว

Chartered Financial Analyst (CFA) เป็นคุณวุฒิทางด้านวิชาชีพทางการเงินและการลงทุนระดับสากล ซึ่งเป็นที่ยอมรับในหลาย ๆ ประเทศ ในปัจจุบัน CFA Society Thailand มีจำนวนสมาชิก 406 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ในองค์กรภาคธุรกิจ อย่างเช่น ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน (CFO), ผู้จัดการกองทุน หรือ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์

"เรามองว่าแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตเป็นความพยายามที่น่าชื่นชมของภาคเอกชนไทย และอยากเข้ามาร่วมสนับสนุน โดยจะส่งเสริมให้สมาชิกของเราไปชักชวนให้บริษัทต่างๆ ที่ติดต่อด้วยให้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่นี้ เราหวังว่าการไม่จัดสรรเม็ดเงินเข้าไปลงทุนในองค์กรที่ทุจริตจะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการสร้างวินัยให้กับตลาดโดยมีภาคเอกชนเป็นตัวนำ" ดร. Andrew Stotz ประธาน CFA Society Thailand กล่าว

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาคมธนาคารไทยได้ลงนามใน MOU กับ CAC โดยสมาคมจะส่งเสริมให้สมาชิกซึ่งได้แก่ธนาคารพาณิชย์ของไทยจำนวน 15 ธนาคาร เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการ CAC และพิจารณานำประเด็นการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตที่ชัดเจนของลูกค้ามาประกอบในการพิจารณาสินเชื่อเพื่อสร้างแรงจูงใจให้บริษัทธุรกิจภาคเอกชนเข้ามาร่วมโครงการ CAC และดำเนินการเพื่อให้ผ่านการรับรองจาก CAC

CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ ในปัจจุบัน มีจำนวนบริษัทเอกชนที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่รับ ไม่จ่ายสินบนในการทำธุรกิจตามโครงการ CAC รวมทั้งสิ้น 835 บริษัท และมีบริษัทที่ผ่านการรับรองว่ามีนโยบายและมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนด รวม 232 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้มี 5 บริษัทที่เพิ่งผ่านการับรองใหม่ในการประชุมคณะกรรมการ CAC รอบล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2560

Background

CAC ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการนำนโยบายและมาตรฐานการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการคอร์รัปชันในระดับบริษัทธุรกิจไปปฏิบัติ บทบาทของ CAC จะเน้นในส่วนของบริษัทเอกชน ด้วยการพยายามให้มีการนำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง โดย CAC ทำงานอย่างใกล้ชิดและคู่ขนานไปกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT)

โครงการ CAC จัดตั้งขึ้นมาโดยองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศซึ่งได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โครงการ CAC ได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจาก Center for International Private Enterprise หรือ CIPE จากสหรัฐอเมริกา UK Prosperity Fund จากสหราชอาณาจักร และมูลนิธิมั่นพัฒนา โดยมี IOD ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและดำเนินการเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ

CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ การประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านคอร์รัปชันและการจ่ายสินบนของบริษัท ส่วนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC หมายถึงบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC และได้ผ่านกระบวนการประเมินตนเอง ที่มีการสอบทานและลงนามรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท หรือผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก ว่าบริษัทมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ดังนั้น การรับรองโดยโครงการ CAC เป็นการรับรองว่าบริษัทมีนโยบาย และระบบป้องกันคอร์รัปชันและการให้สินบน แต่ไม่ได้เป็นการรับรองพฤติกรรมของตัวบุคคลในบริษัท