ปภ.เตือนประชาชนป้องกัน – แก้ไขจุดเสี่ยงอันตรายมหันตภัยพายุลมแรง...ดำเนินชีวิตช่วงฤดูฝนปลอดภัย

06 Jun 2017
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะประชาชนเรียนรู้ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันอันตรายจากพายุลมแรง โดยตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างโดยรอบบ้านให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ขณะเกิดพายุลมแรง ควรเข้าไปหลบในอาคารหรือบ้านเรือนที่มั่นคงแข็งแรง ตรวจสอบป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพปลอดภัย และห้ามหลบพายุ ในบริเวณใกล้ป้ายโฆษณา สำรวจต้นไม้บริเวณรอบบ้าน หากพบต้นไม้เสี่ยงต่อการหักโค่น ให้ตัดต้นไม้ หรือตัดแต่งกิ่งไม้ ขณะเกิด พายุลมแรง ห้ามหลบหรือจอดรถใต้ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ไม่แข็งแรง หากพบเสาไฟฟ้าล้ม สายไฟขาดหรือหย่อนต่ำ ห้ามเข้าใกล้หรือประกอบกิจกรรมในบริเวณดังกล่าว โดยให้แจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้ามาดำเนินการแก้ไข กรณีสายไฟฟ้าพาดรถยนต์ ห้ามลงจากรถจนกว่าจะแน่ในว่าตัดกระแสไฟฟ้าแล้ว เมื่อลงจากรถให้ออกห่างจากรถให้มากที่สุด จะช่วยลดความสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากพายุลมแรง และเพิ่มความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตช่วงฤดูฝน

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ฤดูฝนเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดวาตภัย หรือพายุลมแรง สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะประชาชนเรียนรู้ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันอันตรายจากพายุลมแรง ดังนี้ บ้านเรือน ก่อนเกิดพายุลมแรง ตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างโดยรอบบ้านให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง โดยเฉพาะหลังคาบ้าน ประตู หน้าต่าง ควรเพิ่มที่ค้ำยันหรือใช้ไม้ทาบตอกตระปูยึดติดให้หนาแน่น และจัดเก็บสิ่งของที่สามารถปลิวลมได้ในที่มิดชิด เพื่อป้องกันแรงลมหอบพัดสิ่งของได้รับความเสียหาย ขณะเกิดพายุลมแรง ให้เข้าไปหลบในอาคารหรือบ้านเรือนที่แข็งแรง ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท ปิดกั้นช่องที่ลมสามารถพัดเข้าไปในบ้านเรือนได้ เพื่อป้องกันแรงลมพัดประตูหน้าต่าง หรือสิ่งของปลิวเข้ามากระแทก ทำให้บ้านเรือนเสียหายและคนที่อาศัยอยู่ในบ้านได้รับบาดเจ็บ ป้ายโฆษณา ก่อนเกิดพายุลมแรง ตรวจสอบป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง โดยเฉพาะป้ายโฆษณาที่ติดตั้งบริเวณชุมชน ริมถนน บนอาคาร หรือผนังตึก ซึ่งอาจถูกแรงลมพัด ทำให้ป้ายโฆษณาล้มทับบ้านเรือน และก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง หากตรวจสอบพบป้ายโฆษณาที่ไม่ปลอดภัย เช่น โครงเหล็กเป็นสนิม น็อตหรือชิ้นส่วนหลุด แผ่นป้ายโฆษณาเอียง หรือหลุดออกจากโครงเหล็ก เป็นต้น ให้แจ้งเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ดำเนินการรื้อถอน หรือปรับปรุงแก้ไข ขณะเกิดพายุลมแรง ห้ามหลบพายุบริเวณใกล้ป้ายโฆษณา เพราะแรงลมอาจพัดป้ายโฆษณาเสียหาย ทำให้ถูกโครงเหล็กของป้ายโฆษณาล้มทับ หรือชิ้นส่วน แผ่นป้ายโฆษณาปลิวกระแทก ส่งผลให้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ต้นไม้ ก่อนเกิดพายุลมแรง สำรวจต้นไม้บริเวณรอบบ้าน หากพบกิ่งไม้เสี่ยงต่อการหักโค่น รากไม้ไม่ยึดเกาะหน้าดิน ต้นไม้มีอายุมาก กิ่งไม้มีสภาพเปราะ หรือต้นไม้ที่ยืนต้นตาย ให้โค่นต้นไม้หรือตัดแต่งกิ่งไม้ให้อยู่ในสภาพปลอดภัย กรณีตรวจพบกิ่งไม้พาดสายไฟฟ้า ให้แจ้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการแก้ไข ไม่ควรตัดกิ่งไม้ หรือโค่นต้นไม้เอง เพราะอาจถูกไฟฟ้าดูดได้ ขณะเกิดพายุลมแรง ห้ามหลบหรือจอดรถใต้ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ไม่แข็งแรง เช่น กิ่งไม้แห้งเปราะ รากต้นไม้อยู่เหนือดิน ลำต้นเอียง ต้นไม้ที่ยืนต้นตาย เป็นต้น เพราะเสี่ยงต่อการถูกต้นไม้ล้มทับ หรือกิ่งไม้หล่นใส่ ทำให้ได้รับอันตราย เสาไฟฟ้า ก่อนเกิดพายุลมแรง หากพบสายไฟฟ้าขาดหรือหย่อนต่ำ โดยเฉพาะสายไฟฟ้าที่อยู่บริเวณอาคาร ใกล้บ้านเรือน และแนวรั้วหรือกำแพงบ้าน ห้ามเข้าใกล้หรือประกอบกิจกรรมในบริเวณดังกล่าว ห้ามสัมผัสหรือใช้วัสดุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น แท่งเหล็ก ลวด โลหะ เป็นต้น เขี่ยสายไฟฟ้าอย่างเด็ดขาด เพราะหากมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลจะถูกไฟฟ้าดูดได้ ให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้ามาดำเนินการแก้ไข กรณีพบเสาไฟฟ้าล้ม ห้ามเข้าใกล้อย่างเด็ดขาด เพราะจะได้รับอันตรายจากไฟฟ้าดูด ให้ออกห่างจากบริเวณดังกล่าว พร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้ามาดำเนินการแก้ไข กรณีสายไฟฟ้าพาดรถยนต์ ห้ามลงจากรถจนกว่าจะแน่ใจว่าตัดกระแสไฟฟ้าแล้ว โดยการลงจากรถควรใช้วิธีกระโดดลอยตัว ไม่ให้มือ เท้าหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย สัมผัสกับพื้น และตัวรถพร้อมกัน พยายามก้าวเท้าช่วงสั้นๆ และออกห่างจากรถให้มากที่สุด ทั้งนี้ การเรียนรู้วิธีปฏิบัติ เพื่อป้องกันอันตรายจากพายุลมแรงอย่างถูกวิธี จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สิน รวมถึงช่วยให้การดำเนินชีวิตในช่วงฤดูฝนเป็นไปด้วยความปลอดภัย