การปรับปรุงกระบวนการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ โดยมีวัตถุประสงค์ ที่จะยกระดับการตรวจสอบให้ชัดเจนทันสมัยต่อการสื่อสารในยุคปัจจุบัน และ เพื่อรองรับการมีส่วนร่วมของสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลในกระบวนการดำเนินงานอย่างเป็นทางการ นับเป็นความ ก้าวหน้าของการกำกับดูแลตนเองของวิชาชีพโฆษณาเพื่อประโยชน์ทั้งต่อประเทศชาติ ผู้บริโภค และ นักวิชาชีพอุตสาหกรรมโฆษณาโดยตกลงร่วมกันที่จะจัดตั้งคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านการตรวจพิจารณาโฆษณาทางโทรทัศน์ และยกระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาที่มีความเข้มข้นได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและจำนวนผู้มีความรู้ความสามารถในการพิจารณาต่อไป
การนี้เป็นผลการดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2557 ในการร่วมลงนามความเข้าใจร่วมกัน (MOU)ขององค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับโฆษณา 10 องค์กร ประกอบด้วยสมาพันธ์สมาคมวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ สภาวิชาชีพกิจการแพร่ภาพและการกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) และสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ เพื่อการรวมกลุ่มเป็น"องค์กร" ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และ พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง มีการรวมกลุ่มเป็นองค์กร เพื่อจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบวิชาชีพ และให้ทำการคุมกันเองภายใต้ กฎหมาย และมาตรฐานทางจริยธรรม โดยผู้ประกอบการที่มารวมกลุ่มนี้ได้มีการประชุมร่วมกันอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปี เพื่อปรับปรุงกระบวนการให้มีความครอบคลุมเหมาะสม รวมทั้งมีการจัดการสัมมนาอบรมและจัดพิมพ์หนังสือคู่มือแนวทางการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของกระบวนการดำเนินการการกำกับดูแลตนเอง และการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณา
การปรับปรุงกระบวนการการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ครั้งนี้ นับเป็นพัฒนาการที่สำคัญของกลไกการกำกับดูแลตนเองของวิชาชีพโฆษณา นับตั้งแต่มีการยกเลิกการเซ็นเซอร์โฆษณาก่อนออกอากาศโดยหน่วยงานภาครัฐ เมื่อพ.ศ. 2537 ซึ่งหมายความว่า บริษัทโฆษณาไม่จำเป็นจะต้องส่งภาพยนตร์โฆษณาให้กับคณะกรรมการของรัฐตรวจเซ็นเซอร์อีกต่อไป จึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานเอกชน คือ ตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 5 7 และ 9 ร่วมกับตัวแทนจากสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ร่วมกันเป็น "คณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์" ขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาตรวจสอบโฆษณาทั้งหมดร่วมกัน
ทั้งนี้การดำเนินการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาดังกล่าวมีความต่อเนื่องมานาน มีการพัฒนาในกระบวนการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งในแง่กระบวนการทำงาน การกำหนดแนวทางการพิจารณาต่าง ๆ มาโดยตลอด แต่ในขณะที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลง เนื้อหาการตรวจสอบมีจำนวนมากขึ้น จำนวนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถไม่เพียงพอ กฎระเบียบและข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ในกระบวนการพิจารณาขาดความชัดเจน การที่มีตัวแทนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเข้ามารวมกลุ่ม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กระบวนการการกำกับดูแลตนเองของวิชาชีพโฆษณาสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในการออกอากาศโฆษณาทางโทรทัศน์
คุณอ่อนอุษา ลำเลียงพล นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "การกำกับดูแลตนเองของวิชาชีพโฆษณาถือเป็นรากฐานสำคัญ และมีคุณค่าสำหรับทุกภาคส่วนที่จะสานต่อและปรับให้เข้ากับบริบทของยุคดิจิทัล และที่สำคัญไม่ว่าช่องทางการสื่อสารจะเปลี่ยนไปอย่างไรในอนาคต กระบวนการเซ็นเซอร์ และการกำกับดูแลตนเองที่ได้พัฒนามาตลอดกว่า 25 ปีนั้นถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่ประเมินค่าไม่ได้ เพื่อความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคทั้งด้านกฎหมาย และสังคม" และ คุณวิทวัส ชัยปาณี นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ในอุตสาหกรรมโฆษณาว่า จะทำให้นักโฆษณา และสื่อโฆษณาทุกสถานีดำเนินการภายใต้กรอบการทำงานร่วมกัน มีแนวทางในการพิจารณาโฆษณาที่เหมาะสมร่วมกัน พัฒนาการทำงานที่สร้างความสมดุลระหว่างประโยชน์ของผู้บริโภค และ ผู้ประกอบการ "ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสินค้า หรือ เอเจนซี่ รวมถึงผู้บริโภคเอง จะไม่สับสนในมาตรฐานการโฆษณาสินค้าที่ทำได้เหมือนกัน และในธุรกิจของสื่อโทรทัศน์เองที่มีรายได้จากโฆษณา ก็ถือเป็นการแข่งขันที่เป็นธรรม การรวมกลุ่มกันเป็นมาตรฐานเดียวจะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกสมาคมโฆษณาได้มากขึ้น" ทั้งนี้ คุณวิทวัส ชัยปาณี ยังได้ทิ้งท้ายตอกย้ำความสำคัญของการรวมกลุ่มกำกับดูแลตนเองของวิชาชีพโฆษณาไว้ว่า "ประเทศยังมีกฎหมายเดียว ในธุรกิจหนึ่ง ๆ ก็ควรจะมีกฎเกณฑ์มาตรฐานเดียวเช่นกัน"
คุณเขมทัตต์ พลเดช ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ในยุคInternet of Things ที่อินเตอร์เน็ตเชื่อมทุกอย่างเข้าด้วยกัน การกำกับดูแลตนเองยิ่งสำคัญมากขึ้น เพราะเนื้อหาสาระ การสื่อสารมีช่องทางหลากหลายในการเผยแพร่ การมีมาตรฐานหนึ่งเดียวจะทำให้การดูแลคล่องตัว ชัดเจนยิ่งขึ้น"
ในส่วนของทีวีดิจิทัล คุณสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย)ได้กล่าวถึง การมีส่วนร่วมในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาในครั้งนี้ว่า "ช่องทีวีดิจิทัลเป็นช่องน้องใหม่ในวงการโฆษณา แต่ก็เป็นอนาคตของโฆษณาไทย ตลอดเวลาที่ผ่านมา เมื่อประเทศไทยเริ่มมีช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ในการเผยแพร่โฆษณา เราก็ยึดตามแนวทางของคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาฟรีทีวีที่มีอยู่เดิม และก็มีความยินดีที่จะเรียนรู้จากมาตรฐานที่เข้มแข็งที่มีอยู่แล้ว และช่วยกันปรับปรุงกระบวนการต่อไปให้ดีที่สุด"
สำหรับการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไป จะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรก คือ การจัดตั้ง "คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านการตรวจพิจารณาโฆษณาทางโทรทัศน์" ประกอบด้วย ผู้แทนจากสถานีหลักเดิมได้แก่ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3, ช่อง 5, ช่อง 7, MCOT, TPBS, NBT, ผู้แทนจากโทรทัศน์ดิจิทัลที่แต่งตั้งโดยสมาคมโทรทัศน์ดิจิทัล 2 ช่อง, ผู้แทนจากโทรทัศน์ดิจิทัลที่แต่งตั้งโดยสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ฯ 2 ช่อง, และผู้แทนจากสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย (ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการฯ) รวม11 ท่าน โดยให้คณะกรรมการฯ มีหน้าที่กำหนดนโยบาย และ ระเบียบการปฏิบัติงาน ตลอดจนพิจารณาตัดสินข้อขัดแย้งเชิงนโยบาย พิจารณาอนุมัติระเบียบการทำงาน และเรื่องอื่นและ/หรือที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรด้านการเซ็นเซอร์ การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน เป็นต้น และส่วนที่สอง ได้แก่ การจัดทำโครงการฝึกอบรมผู้แทนจากสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลช่องต่าง ๆ ให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการทำหน้าที่ตรวจพิจารณาภาพยนต์โฆษณาอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการเรียนภาคทฤษฎีและการฝึกภาคปฏิบัติ เพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณา ความร่วมมือในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแลตนเองของนักวิชาชีพให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ สังคม ประชาชน ผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit