นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึง ความร่วมมือสนับสนุนโครงการยกระดับร้านค้าประชารัฐเพื่อชุมชนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคนเพื่อพัฒนาประเทศตามนโยบายของประชารัฐเพื่อเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ท่ามกลางบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ได้สร้างความท้าทายให้แก่ตลาดและร้านค้าชุมชนหลายด้าน ได้แก่ 1.การแข่งขันที่เข้มข้นจากตลาดและร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ ที่มีอำนาจต่อรองและความได้เปรียบจากขนาด ทำให้ผู้บริโภคเลือกเข้าร้านค้าชุมชนน้อยลง 2.การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลทำให้ธุรกิจต่างๆ แข่งขันโดยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ตลาดและร้านค้าชุมชนยังไม่สามารถเข้าถึงและมีใช้ 3.ตลาดและร้านค้าชุมชนยังขาดช่องทางในการนำสินค้าที่มีหลากหลายและคุณภาพมาจำหน่ายเป็นทางเลือกให้ลูกค้า 4.ผู้ประกอบการตลาดและร้านค้ายังขาดความรู้ ความเข้าใจในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้สามารถอยู่รอดและเติบโต เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนในการเข้าถึงสินค้าในราคายุติธรรม รักษาสมดุลของกลไกตลาดไม่ให้เกิดการผูกขาดของธุรกิจกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และสร้างกลไกในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง
ด้าน รศ.นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กล่าวว่า"โครงการยกระดับร้านค้าประชารัฐเพื่อชุมชน" วางแนวทางการดำเนินการแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.การออกแบบโครงสร้างและแนวทางการยกระดับตลาดและร้านค้าชุมชนสู่ความสำเร็จในยุค 4.0 เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องระหว่างหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทุกภาคส่วนได้อย่างคล่องตัวและนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แท้จริง2.การเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการตลาดและร้านค้าชุมชนให้มีความพร้อมในการยกระดับการดำเนินการสู่ความสำเร็จในยุค 4.0 ทั้งนี้ โดยจัดหลักสูตรอบรมระดับพื้นฐาน (Fundamental Course) และหลักสูตรอบรมระดับสูง (Advanced Course) เพื่อต่อยอดให้เป็นต้นแบบความสำเร็จมาสร้างให้เป็นแฟรนไชส์"ตลาดและร้านค้าประชารัฐเพื่อชุมชน โดยจะดำเนินการอบรมหลักสูตรพื้นฐานในปี 2560 จำนวน 5 รุ่นๆ ละ 200 แห่ง " 3. พัฒนาระบบเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับการยกระดับตลาดและร้านค้าชุมชนสู่ความสำเร็จในยุค 4.0 ได้แก่ 3.1 ระบบเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการภายในตลาดและร้านค้าชุมชนให้ตลาดและร้านค้าชุมชนใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันเช่น 3.2 ระบบบัตรสมาชิกตลาดและร้านค้าชุมชนให้เป็นระบบและมีศักยภาพ ที่สามารถใช้สร้างกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ เช่น การจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย การสะสมแต้มของสมาชิกและเชื่อมโยงกับระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ 3.3 ระบบเชื่อมโยงสินค้าระหว่างชุมชน เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้าในชุมชนต่างๆ ให้มีช่องทางในการจำหน่ายสินค้า และเชื่อมโยงกับระบบขนส่งสินค้า 3.4 ระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่ชาญฉลาด เพื่อให้ตลาดและร้านค้าชุมชนนำไปกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานต่างๆ และสามารถเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการชุมชนอย่างมีหลักการเพื่อกำหนดและติดตามนโยบายได้อย่าง ตรงจุดและทันเหตุการณ์ ในด้านแนวโน้มของยอดขายร้านค้าประชารัฐเพื่อชุมชน20,000 แห่ง อยู่ในเกณฑ์ที่ดีจากยอดขายเดือนละ 120,000 บาท/ร้าน คาดว่าในปี 2560 จะเพิ่มยอดขาย เป็นเดือนละ200,000 บาทต่อร้าน หรือปีละ 2 ล้านบาทต่อร้าน หากรวมร้านค้าทั้งประเทศจะมียอดมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 4 หมื่นล้านบาท และหากรวมเงินทุนหมุนเวียนด้วยจะประมาณ 5 – 6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะผลักดันให้ร้านค้าชุมชนเป็นสถานที่รวบรวมผลผลิตของชุมชน และกระจายไปยังตลาดกลาง เพื่อนำผลผลิตออกสู่ตลาดนอกพื้นที่ และมีแผนที่จะจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างตลาดด้วยกัน เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย เพราะสินค้าในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน
รศ. ดร.ธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนสุนันทา กล่าวว่า สถาบันการศึกษามีบทบาทในการร่วมสนับสนุน "โครงการยกระดับร้านค้าประชารัฐเพื่อชุมชน" พัฒนา Local Economy ของรัฐบาลในการวิเคราะห์งานวิจัยติดตามและประเมินผลความสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีนายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนขอขอบคุณภาครัฐเป็นอย่างยิ่งที่เปิดโอกาสให้เข้าร่วมพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้โครงการประชารัฐ โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตลาดชุมชนและร้านค้าชุมชน ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถยกระดับร้านค้าให้เป็นจริงได้ ซึ่งถือเป็นฐานหลักของการพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้การสนับสนุนของรัฐที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนที่สุดคือ ทำให้ตลาดและร้านค้าชุมชนพึ่งพาตนเองและเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยการยกระดับการบริหารจัดการของตลาดและร้านค้าชุมชนให้มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถบริหารจัดการได้อย่างชาญฉลาด ใช้ความได้เปรียบของการเป็นวิสาหกิจชุมชนและพลังมวลชนของสมาชิกเป็นความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้ประสบความสำเร็จในยุค 4.0 อันจะนำไปสู่ประสิทธิภาพของการใช้กองทุนหมู่บ้านให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระยะสั้นและระยะยาว