ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2560 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการยกระดับโอทอปด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จำนวน 199 ล้านบาท มีเป้าหมายในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการโอทอป ภายใต้โครงการคูปองวิทย์เพื่อโอทอป ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 โดยได้รับมอบหมายแนวทางดำเนินงานโครงการฯ จาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้มุ่งเน้นด้านการต่อยอดสนับสนุนผู้ประกอบการ ภายหลังจากได้รับงานบริการจากโครงการฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเองอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเน้นการทำงานประชารัฐเป็นหลัก คือ เชื่อมโยงประชาชน เข้ากับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ในด้านการสนับสนุนเงินทุนต่อยอด การจัดจำหน่ายสินค้า การส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปขายยังตลาดต่างประเทศ การสนับสนุนด้านการพัฒนามาตรฐาน การสนับสนุนทางการตลาด และ E-Commerce พร้อมทั้งสร้างความตระหนักผ่านกิจกรรมการเผยแพร่เทคโนโลยีและการเชิดชูตัวอย่างที่ดีอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
ทั้งนี้ โครงการคูปองวิทย์เพื่อโอทอป มีเป้าหมายมุ่งพัฒนาผู้ประกอบการ 3 ประเภทคือ
1. ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการโอทอปที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ (New OTOP) เช่น ประชาชนทั่วไป กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนโอทอป
2. ผู้ประกอบการโอทอปที่ขึ้นทะเบียนแล้ว และต้องการยกระดับดาว (Existing)
3. ผู้ประกอบการโอทอปที่เป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วน และต้องการเพิ่มศักยภาพในการส่งออก (Growth) โดยจะให้การสนับสนุน 6 เรื่อง คือ
พัฒนาคุณภาพวัตถุดิบต้นน้ำ
พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์
ออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์
ออกแบบและพัฒนากระบวนการผลิต
ออกแบบและพัฒนาเครื่องจักร
พัฒนาระบบมาตรฐาน
ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวถึงผลการดำเนินงานโครงการคูปองวิทย์เพื่อโอทอปในรอบ 6 เดือน ว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยการดำเนินงานบูรณาการร่วมกันระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ (สป.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) ได้ลงพื้นที่จัดกิจกรรมโอทอปสัญจรใน 11 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย แพร่ น่าน พิษณุโลก เพชรบุรี สระแก้ว อุดรธานี ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี บุรีรัมย์ และ ชุมพร มีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 1,520 ราย โดยมีผู้ประกอบการสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 587 ราย (จากเป้าหมายปี 2560 จำนวน 629 ราย) และผ่านการอนุมัติโครงการแล้ว 381 ราย โดยในวันนี้เชิญตัวแทนผู้ประกอบการมารับรางวัลภายในงานจำนวน 5 ราย ได้แก่ ชาพร้อมดื่มจากเห็ดหลินจือ จาก ฟาร์มเห็ดหลินจือบ้านราชพฤกษ์ พิษณุโลก, สบู่ถั่วเขียว Onzonskin จาก กรุงเทพฯ, ปลาเค็มบ้านสวนเพิ่มสุข ปทุมธานี, โคมไฟจากรังไหม และผลิตภัณฑ์เส้นใยจากรังไหมกลุ่มรังไหมประดิษฐ์ สระบุรี และ "CHOMNAD" สะตออบแห้งชนิดคืนรูปได้ จาก นครศรีธรรมราช
โดยผู้ประกอบการที่ผ่านการอนุมัติโครงการแล้ว 381 ราย สามารถแบ่งตามภูมิภาคได้ดังนี้ ภาคเหนือ 87 ราย ภาคกลาง 53 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 165 ราย ภาคใต้ 66 ราย และภาคตะวันออก 10 ราย โดยเป็นผู้ประกอบการโอทอปที่เพิ่งเริ่มต้น 111 ราย ผู้ประกอบการที่ต้องการยกระดับห้าดาว 262 ราย และผู้ประกอบการต้องการเพิ่มศักยภาพในการส่งออก 8 ราย ในจำนวนดังกล่าวสามารถแบ่งตามประเภทผลิตภัณฑ์โอทอปได้ดังนี้ ผู้ประกอบการกลุ่มอาหาร 119 ราย กลุ่มเครื่องดื่ม 16 ราย กลุ่มสมุนไพร 53 ราย กลุ่มผ้า 93 ราย และกลุ่มของใช้ 100 ราย
สำหรับการจัดกิจกรรมในครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ 2560 คณะทำงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มุ่งเดินหน้าโครงการคูปองวิทย์เพื่อโอทอปให้สำเร็จตามเป้าหมาย ผ่านการดำเนิน "โครงการพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชน/โอทอปรุ่นใหม่" (MOST InnoOTOP Academy 2017) และการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชนครั้งที่ 1 ( MOST InnoOTOP Award 2017) ภายใต้กรอบแนวคิด "การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่จะยกระดับผลิตภัณฑ์ ชุมชน/โอทอป ไปสู่ผลิตภัณฑ์โดดเด่น ที่ยังมีกลิ่นอายชุมชน มีเอกลักษณ์และมีเรื่องราว โดยผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในพื้นที่ เพื่อส่งสินค้าชุมชนไทยสู่สากล และเป็นหนึ่งแรงที่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและสร้าง ความเข้มแข็งให้ชุมชนไทยอย่างยั่งยืน" โดยมีระยะเวลาการดำเนินงาน 9 เดือน (เมษายน - ธันวาคม 2560)
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2561 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้กำหนดจังหวัดที่จะจัดงานโอทอปสัญจร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและประชาสัมพันธ์โครงการใน 10 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค ดังนี้ จังหวัดตาก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร นครราชสีมา มหาสารคาม นครปฐม จันทบุรี พระนครศรีอยุธยา นราธิวาส และนครศรีธรรมราช ซึ่งจะก่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับการดำเนินงานตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาล รวมถึงสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ประกอบการ ผ่านกิจกรรมการเผยแพร่เทคโนโลยี และการให้คำแนะนำปรึกษา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการเชิดชูตัวอย่างผู้ประกอบการที่ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมอีกด้วย