อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า โรคไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์เป็นอาการสำคัญ ผู้ป่วยจะมีอารมณ์แปรปรวนที่ผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ อารมณ์เศร้าหรืออารมณ์รื่นเริงสนุกสนาน ในช่วงระยะอารมณ์ซึมเศร้า ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เศร้า หดหู่ ร้องไห้ง่าย เบื่ออาหาร เชื่องช้า ลังเล ตัดสินใจ ไม่แน่นอน ไม่มั่นใจตัวเอง คิดช้า ไม่มีสมาธิ รู้สึกว่าชีวิตตนเองไม่มีคุณค่า และมีความคิดฆ่าตัวตาย ส่วนในช่วงที่มีอารมณ์รื่นเริงสนุกสนานผิดปกติ ผู้ป่วยจะรู้สึกมีความสุขมาก อารมณ์ดี คึกคัก มีกำลังวังชา ขยันกว่าปกติแต่ทำได้ไม่ดี ความต้องการนอนน้อยลง พูดคุยทักทายผู้อื่น แม้แต่กับคนแปลกหน้า พูดมาก พูดเร็ว กิจกรรมทางเพศเพิ่มขึ้น ใช้จ่ายเปลือง เชื่อมั่นตนเองมาก การตัดสินใจไม่เหมาะสม ขาดความยับยั้งชั่งใจ หากถูกห้ามปรามหรือขัดขวางในสิ่งที่ต้องการจะหงุดหงิด ฉุนเฉียว ในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบมีอาการหลงผิดแบบมีความสามารถพิเศษเหนือคนอื่น จนถึงมีภาวะหวาดระแวงได้ โรคนี้มีความชุกประมาณร้อยละ 1 ในผู้ใหญ่ เพศหญิงและเพศชายเท่าๆกัน พบว่าประมาณ ร้อยละ 20 ของผู้ป่วยเริ่มมีอาการระหว่างอายุ 15-19 ปี แต่ผู้ป่วยบางคนอาจเริ่มมีอาการในระยะก่อนเข้าวัยรุ่นหรือวัยรุ่นตอนต้นก็ได้ โดยที่องค์การอนามัยโลกก็ได้ระบุว่า โรคนี้เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือความพิการ อันดับที่ 6 ของโลก และยังพบอีกว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยฆ่าตัวตายสำเร็จ สำหรับประเทศไทย ล่าสุด จากรายงานการให้บริการผู้ป่วยจิตเวชของประเทศไทย กรมสุขภาพจิต และคลังข้อมูลการแพทย์และสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข ปี 2559 พบว่า มีผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ ทั้งสิ้น 32,502 คน จากผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด 712,359 คน
โรคนี้เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองรวมทั้งปัจจัยทางด้านจิตสังคม ได้แก่ ความเครียดในชีวิตประจำวันและสิ่งแวดล้อม โรคอารมณ์สองขั้วเป็นโรคเรื้อรังมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ถึง80-90 % จึงจำเป็นต้องรักษาด้วยการรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้ป่วย ญาติ และสังคม จำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการรักษา โดย ผู้ป่วยเอง ก็ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ พบแพทย์ตามนัด ดูแลตัวเอง ห้ามอดนอน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ ห้ามใช้สารเสพติด สุรา แอลกอฮอล์ และ อย่าเครียด ขณะที่ ญาติและคนใกล้ชิด ก็ต้องดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาและปฏิบัติตามแผนการรักษา รวมทั้ง หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบ ให้กำลังใจ และมีการสื่อสารที่ดีในครอบครัว ตลอดจน สังคม ก็ต้องเข้าใจ ให้โอกาส และลดอคติ มองผู้ป่วยไบโพลาร์ไม่ต่างจากจากผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่สามารถรักษาได้ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเข้าสู่กระบวนการรักษาและใช้ชีวิตแบบเพื่อนแท้ไบโพลาร์ได้อย่างมีความสุขเช่นเดียวกับคนทั่วไป ทั้งนี้ สามารถขอรับบริการปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit