ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้มีการสนับสนุนการทำสวนยางตามมาตรฐาน FSC (Forest Stewardship Council) มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการยางพาราประชารัฐ เป็นความร่วมมือระหว่าง กยท. และตัวแทนภาคเอกชน พร้อมทั้ง การมีส่วนร่วมของเกษตรกรชาวสวนยาง ล่าสุด กยท. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัทเอกชนอีก 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอ๊ดวานซ์ เพาเวอร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด บริษัท เค ดับเบิลยู เอ็ม เซอร์วิส จำกัด และบริษัท เอ็มเคเอส รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ถือเป็นการการพัฒนา และสร้างเกณฑ์การจัดสวนยางอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐานในระดับสากล หวังเพิ่มมูลค่าไม้ยางพาราให้กับเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของทาง กยท. เช่นกัน จะมุ่งมั่นในการพัฒนาความรู้การจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกร ตั้งแต่เริ่มปลูกยางจนถึงโค่นยาง ให้สามารถสร้างรายได้ที่ดี ช่วยเพิ่มโอกาสในการยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรด้วย
"เพราะนอกจากการขายไม้โตเร็วที่ปลูกแล้ว เมื่อโค่นยาง ไม้ยางก็สามารถขายได้ ยิ่งเกษตรกรบริหารจัดการสวนยางให้อยู่ภายใต้มาตรฐาน FSC ไม่ใช่เพียงไม้ยางพาราเท่านั้นที่ได้การรับรองมาตรฐานนี้ แต่พืชแซมสวนยางทั้งหลาย รวมถึงไม้โตเร็วเหล่านี้ ก็ได้การรับรองมาตรฐานนี้เช่นเดียวกัน" ดร.ธีธัช กล่าว
นายไผ่ บัวงาม กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ๊ดวานซ์ เพาเวอร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า เชื้อเพลิง ชีวมวลเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูง หลังจากเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่นรั่วไหล ญี่ปุ่นเริ่มมีการตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลมากขึ้น และมีอีกหลายโรงที่กำลังจะก่อสร้างเสร็จภายในปี 2563 ยิ่งเป็นการชี้ให้เห็นถึงความต้องการ (Demand) ของตลาดได้อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น การเริ่มผลักดันและส่งเสริมตั้งแต่ตอนนี้ เชื่อมั่นว่าการปลูกไม้ซึ่งสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลจะเป็นธุรกิจที่มีความยั่งยืน และหากเราสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกไม้ในกลุ่มดังกล่าว ก็จะเป็นการช่วยให้เกษตรกรมีอาชีพที่ยั่งยืนด้วยเช่นกัน
ด้าน นางสาวแคทลียา คำฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค ดับเบิลยู เอ็ม เซอร์วิส จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ทำธุรกิจด้าน wood pellete กว่า 6 ปี และมีโรงงานผลิต จำนวน 8 โรงงาน มีแผนจะขยายโรงงานเพิ่มขึ้นในทั่วประเทศ ดังนั้นความต้องการปริมาณวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปัจจุบันการแข่งขันในการหาวัตถุดิบป้อนโรงงานสูงมากขึ้น บริษัทฯ ต้องการหาแหล่งวัตถุดิบที่มีความมั่นคงที่สามารถรองรับการใช้ในระยะยาวได้ บริษัทฯได้ติดต่อหาวัตถุดิบจากหลายหน่วยงาน และพบว่าที่ กยท. เป็นหน่วยงานที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการให้กับเราได้ เนื่องจากเกษตรกรชาวสวนยางโดยส่วนใหญ่ได้ขึ้นทะเบียนกับ กยท. และมีการจัดการสวนยางที่มีคุณภาพอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา
นายดุสิต น่วมนวล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มเคเอส รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัท ดำเนินธุรกิจด้านการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด wood pellets เพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งประเทศที่ทางบริษัทส่งออกจำหน่ายได้แก่ เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศต้องได้รับมาตรฐาน FSCโดยไม้โตเร็วที่บริษัทสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางปลูก คือไม้กระถินเทพา เนื่องจากเป็นไม้โตเร็ว มีระยะเวลาการปลูกสั้น สามารถตัดต้นขายได้ตั้งแต่อายุ 2 - 5 ปี และสามารถปลูกเสริมตามแนวสวนยางได้ โดยไม่ทำให้ดินแห้งเสีย เนื่องจากกระถินเทพาเป็นพืชตระกูลถั่วจึงไม่ส่งผลกระทบต่อต้นยางพาราที่เป็นพืชหลักในสวน
บริษัท พร้อมสนับสนุนพันธุ์ไม้โตเร็วแก่เกษตรกร รวมถึงการให้ข้อมูล ความรู้ในการปลูกไม้โตเร็วร่วมสวนยาง การ MOU ร่วมกับ กยท. ในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรแล้ว ในระยะยาว เราสามารถวางแผนการผลิตเพื่อส่งออกเชื้อเพลิงชีวมวล ที่ผลิตจากไม้โตเร็ว และไม้ยางพาราจากไทย ที่ได้การรับรองมาตรฐานFSC โครงการนี้ จะเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการควบคู่กันได้ นายดุสิต กล่าวทิ้งท้าย
https://youtu.be/oLe326eg2Pc
(ลิงค์วีดิโอพิธีลงนามความร่วมมือ(MOU)
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit