SUPER ตั้งแบงก์กรุงเทพเป็นที่ปรึกษาฯตั้งอินฟราฟันด์ฯ รองรับแผนลุยซื้อโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ ดันผลงานโตก้าวกระโดด

19 Apr 2017
SUPER อนุมัติแต่งตั้งแบงก์กรุงเทพเป็นที่ปรึกษาฯ จัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน รองรับแผนขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ "จอมทรัพย์ โลจายะ"คาดยื่นขออนุมัติจัดตั้งต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. และระดมทุนได้ภายในปีนี้ มั่นใจช่วยผลักดันธุรกิจของบริษัทเติบโตอย่างแข็งแกร่ง หนุนผลงานโตก้าวกระโดด สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น
SUPER  ตั้งแบงก์กรุงเทพเป็นที่ปรึกษาฯตั้งอินฟราฟันด์ฯ รองรับแผนลุยซื้อโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ ดันผลงานโตก้าวกระโดด

นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) (SUPER)เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติแผนการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์) โดยได้แต่งตั้ง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และคาดว่าจะสามารถยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต. ) เร็วๆนี้ และเสนอขายกองทุนได้ภายในปีนี้ เพื่อรองรับแผนการขยายธุรกิจ

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะใช้ทรัพย์สินในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ นำร่องขายผ่านกองทุนฯ โดยมีขนาดกำลังการผลิตเบื้องต้น 100-120 เมกะวัตต์ โดยมีวัตถุประสงค์จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านอินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ไปขยายการลงทุนในอนาคต ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยผลักดันธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สร้างผลการดำเนินงานให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และสร้างผลตอบแทนที่ดีกับผู้ถือหุ้น

นอกจากนี้ บริษัทฯยังมีแผนนำ บริษัท ซุปเปอร์ โซลาร์ เอนเนอร์ยี จำกัด หรือ SSE ซึ่งเป็นบริษัทย่อยด้านพลังงานแสงอาทิตย์ เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ด้วย

"ตอนนี้ผมทำทุกอย่างที่จะผลักดันให้ธุรกิจของบริษัทฯ เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน รวมถึงการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น สำหรับการเซ็นสัญญาแต่งตั้งให้แบงก์กรุงเทพเป็นที่ปรึกษาทางการเงินเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา( วันที่ 18 เม.ย.2560) เพื่อจัดตั้งกองทุนอินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ฯ ถือเป็นใบเบิกทางสู่การรุกธุรกิจพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบของ SUPER คาดว่าจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนในครั้งหลังของปีนี้" นายจอมทรัพย์กล่าวในที่สุด

ทั้งนี้ ในปี 2560 SUPER ตั้งเป้าหมายรายได้ประมาณ 9,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งก้าวกระโดดจากปีก่อนหน้าที่ทำได้ 3,802 ล้านบาท จากการขยายการลงทุนออกไปทุกรูปแบบ อาทิ การลงทุนร่วมกับพันธมิตรและการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการเข้าร่วมประมูลงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตรส่วนที่เหลือ และการเข้าลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ดังนั้นการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปีนี้จะเติบโตแบบก้าวกระโดดจากปีก่อนที่มีกำลังการผลิตกว่า 700 เมกะวัตต์