จับตาสินค้าไทยถูกกระทบจากนโยบายทรัมป์

10 Apr 2017
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มอง หากสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้ากับไทยจริง สินค้าส่งออกที่ผู้ประกอบการไทยจะถูกกระทบโดยตรงจะเป็นสินค้าที่ไทยเกินดุลกับสหรัฐฯมาก และสหรัฐฯพึ่งพาการนำเข้าจากไทยในสัดส่วนที่สูงเทียบกับการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งได้แก่ สินค้าประเภทอัญมณี อาหารทะเลแปรรูป และยางธรรมชาติ
จับตาสินค้าไทยถูกกระทบจากนโยบายทรัมป์

ประธานาธิบดีทรัมป์ได้อนุมัติคำสั่งตรวจสอบ 16 ประเทศที่สหรัฐฯมีการขาดดุลการค้าในระดับสูงเพื่อหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขการขาดดุลการค้าดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งใน 16 ประเทศด้วย โดยในปี 2016 สหรัฐฯมีการขาดดุลการค้ากับประเทศไทยเกือบหนึ่งหมื่นเก้าพันล้านเหรียญดอลลาร์ ซึ่งหากผลการตรวจสอบดังกล่าวระบุว่า ไทยปฏิบัติการค้าอย่างไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ สหรัฐฯ อาจมีมาตรการตอบโต้ได้ และอาจเป็นประเด็นในการเจรจาการค้าเสรีไทยกับสหรัฐฯ

ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าหากสหรัฐฯดำเนินการตอบโต้โดยใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับไทย ซึ่งอาจมาในรูปแบบต่างๆ อาทิ การขึ้นภาษีนำเข้า การกำหนดโควต้านำเข้า มาตรการดังกล่าวน่าจะจำกัดอยู่ในสินค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลกับไทยมากและมีการนำเข้าจากไทยเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับการนำเข้าสินค้าชนิดนั้นทั้งหมด ซึ่งได้แก่ สินค้าประเภท อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สัตว์น้ำ ยางและล้อรถยนต์ เครื่องประดับและอัญมณี ผลไม้กระป๋อง อุปกรณ์ถ่ายภาพ รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน และยางธรรมชาติ โดยกลุ่มสินค้าดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าส่งออกของไทยประมาณ 14,700 ล้านดอลลาร์ หรือ 6.8% ของส่งออกไทยทั้งหมด

เมื่อพิจารณาสินค้าที่เข้าข่ายได้รับผลกระทบ สามารถจัดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ผู้ผลิตเป็นบริษัทข้ามชาติในไทย และบริษัทสัญชาติไทย โดยในกลุ่มแรก ได้แก่ สินค้าประเภทอุปกรณ์เสริมคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ยางและล้อรถยนต์ เครื่องประดับ อุปกรณ์ถ่ายภาพ รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน และผลไม้กระป๋อง รวมมูลค่าที่สหรัฐฯ ขาดดุลกว่า 12,000 ล้านดอลลาร์ หากสหรัฐฯใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับไทย อาจส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ดังนั้น ในระยะสั้นไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบมาก แต่ในระยะยาวหากมีการย้ายฐานการผลิต แรงงานและ supplier ไทยจะได้รับผลกระทบ ในขณะที่กลุ่มสินค้าที่ผู้ผลิตเป็นบริษัทไทยและเข้าข่ายได้รับผลกระทบ ได้แก่ อัญมณี อาหารทะเลแปรรูป และยางธรรมชาติ คิดเป็นการขาดดุลของสหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ แม้จะมีมูลค่าการขาดดุลไม่มากแต่ก็เป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยจะได้รับผลกระทบโดยตรง จึงเป็นกลุ่มสินค้าที่ควรจับตาดู อย่างไรก็ตาม สินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่สหรัฐฯ ไม่สามารถผลิตได้เองและต้องอาศัยการนำเข้าเป็นหลัก ดังนั้น โอกาสที่จะถูกตอบโต้โดยใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงอาจยังมีจำกัด

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่อาจถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้ากับไทยได้ เช่น 1) การถูกขึ้นบัญชีว่าเป็นผู้บิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน (Currency Manipulator) โดยเกณฑ์ที่สหรัฐฯ ระบุไว้มี 3 ข้อ ได้แก่ สัดส่วนเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 3% ของจีดีพี และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับสหรัฐฯมากกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญ รวมทั้งมีการเข้าแทรกแซงค่าเงินโดยซื้อเงินตราต่างประเทศสุทธิในรอบ 12 เดือนมากกว่า 2% ของจีดีพี ซึ่งข้อนี้ไทยเข้าข่ายทุกเงื่อนไขยกเว้นดุลบัญชีเดินสะพัดที่ไทยเกินดุลกับสหรัฐฯอยู่ 1.98 หมื่นล้านเหรียญ น้อยกว่าเกณฑ์ 2 หมื่นล้านเหรียญเพียงเล็กน้อย 2) การใช้แรงงานผิดกฎหมาย โดยจากรายงาน Trafficking in Person Report (TIP) ไทยยังอยู่ใน Tier 2 Watch List คือเป็นประเทศที่มีจำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์สูง และยังไม่ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำของ TVPA (Trafficking Victims Protection Act of 2000) แต่แสดงถึงความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา และ 3) ประเด็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจาก 2016 Special 301 Report ที่จัดทำโดยสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (US Trade Representative: USTR) ประเทศไทยยังอยู่ใน Priority Watch List คือเป็นประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามาก โดยหากมีการละเมิดมากขึ้นจะถูกจัดอยู่ใน Priority Foreign Country ซึ่งสหรัฐฯสามารถใช้มาตรการตอบโต้ได้

ในยุคที่ตลาดใหญ่สหรัฐฯมีมุมมองการค้าต่างจากในอดีตโดยมีนโยบายกีดกันการค้ามากขึ้น ภาครัฐจำเป็นควรเร่งเจรจา RCEP ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งพัฒนาและส่งเสริมมาตรฐานการผลิตเพื่อให้เข้ากับมาตรฐานสากล ทั้งทางด้านแรงงาน และด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ยังเป็นจุดอ่อนของธุรกิจไทย เพื่อให้ธุรกิจมีภูมิคุ้มกันที่ดีและสามารถเติบโตได้ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการค้าโลกในอนาคต