พญ. สมจินตนา เอี่ยมสรรพางค์ ผู้อำนวยการแผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การดูแลผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุควรได้รับการดูแลโดยบุคลากรการแพทย์ที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินโดยเฉพาะ ซึ่งต้องมีการประเมินสถานการณ์ ร่วมกับประเมินการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น เพื่อวางแผนการเคลื่อนย้ายและดูแลได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานการดูแลผู้บาดเจ็บ ก่อนนำส่งยังสถานพยาบาลที่มีความพร้อมอย่างรวดเร็ว การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บด้วยตนเองในบางครั้งอาจก่อให้เกิดอันตรายเพิ่มขึ้นได้ สำหรับผู้สูงอายุอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกๆสถานการณ์ อย่างเช่น ในเทศกาลสงกรานต์ มีการเล่นสาดน้ำ ลูกหลานมาขอพรและรดน้ำให้ผู้ใหญ่ หรือ อากาศที่ร้อนจัด ถ่ายเทไม่สะดวก นี้ก็เป็นหนึ่งสาเหตุที่อาจนำพาปัญหาเรื่องการลื่นหกล้มในผู้สูงอายุ เนื่องจากพยาธิสภาพของผู้สูงอายุจะพบปัญหาเรื่องกระดูกบางหรือกระดูกพรุน การลื่นหกล้มจึงเกิดการแตกหรือหักได้ง่าย เมื่อผู้ป่วยหกล้มและสงสัยว่ามีกระดูกสะโพกหัก สามารถสังเกตได้คือ จะมีอาการปวดบริเวณสะโพกข้างที่หัก ลุกเดินไม่ได้ หรือลงน้ำหนักขาข้างที่สะโพกหักไม่ได้ เมื่อขยับขาข้างที่สะโพกหักจะปวดมาก หากญาติพบผู้ป่วยหกล้มและสงสัยกระดูกสะโพกหักให้ผู้ป่วยพักในท่าที่สบาย พยายามอย่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และโทรเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปตรวจ วิธีการรักษาจะพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยและตำแหน่งการหักของกระดูกสะโพก โดยจะมี 2 วิธีคือ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมด้วยเทคนิคผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ ลดอาการเจ็บปวดหลังผ่าตัด รวมถึงช่วยลดอัตราการเกิดข้อสะโพกหลุดหลังผ่าตัด พักฟื้น 2-4วัน วิธีที่ 2 "การผ่าตัดยึดตรึงกระดูกแบบแผลเล็ก หรือ Minimally Invasive Plate Osteosynthesis (MIPO)" ที่ช่วยให้เนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ และระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณเยื่อหุ้มกระดูกบอบช้ำน้อย ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว กระดูกติดเร็ว มีแผลขนาดเล็กสวยงาม และลดภาวะแทรกซ้อน เช่น กระดูกติดช้า และการติดเชื้อ และยังรวมถึงการดูแลหลังการผ่าตัดด้วยการกายภาพบำบัดเฉพาะสำหรับผู้สูงวัย ทั้งการฝึกเดินโดยใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ลู่วิ่งต้านแรงโน้มถ่วง ที่เรียกว่า Alter G เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น การได้รับการผ่าตัด อย่างรวดเร็วภายใน 48 ชั่วโมง ผู้สูงอายุก็จะฟื้นตัวเร็ว ป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน รวมไปถึงอัตราการเสียชีวิตลดลง สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ
โรคลมแดด (Heat Stroke) นับเป็นภัยร้ายที่มากับหน้าร้อนเช่นกัน และถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ กลุ่มที่พบได้บ่อย คือ ในผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ซึ่งร่างกายจะไม่สามารถทนกับความร้อนได้มากและนาน ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะลมแดด ซึ่งผู้สูงอายุโดยทั่วไปแล้วจะมีโรคประจำตัวหลายโรค กินยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาเบาหวาน ที่อาจก่อให้การระบายความร้อนของร่างกายลดลง ดื่มน้ำน้อย ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย และในเด็กเล็ก ร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากความร้อนได้ง่ายกว่าในผู้ใหญ่ หากเล่น หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งที่มีแดดจัดนานหลายชั่วโมง แม้แต่การเล่นน้ำในสวนน้ำ ซึ่งหากอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียส จะมีผลกับการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท อวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลวจนทำให้เสียชีวิตได้ ในการดูแลผู้ป่วยจากภาวะลมแดดเบื้องต้น คือ พาผู้ป่วยไปในที่ร่ม พยายามลดอุณหภูมิกายของผู้ป่วยให้เร็วที่สุดด้วยวิธีการที่หาได้ อาทิ โดยพ่นละอองน้ำ ร่วมกับเปิดพัดลมเป่า หรือ แช่ในน้ำเย็น จะช่วยระบายความร้อนได้ดีที่สุด หากผู้ป่วยมีอาการซึม ชัก ควรรีบเรียกรถพยาบาลเพื่อนำส่งยังสถานพยาบาลอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันภาวะลมแดด คุณพ่อคุณแม่ควรกำหนดเวลาเล่นไม่ให้ลูกอยู่กลางแดดนานเกินไป และให้เด็กดื่มน้ำมากๆ เนื่องจากเด็กมักห่วงเล่นจนลืมดื่มน้ำ
นอกจากนี้หากวูบเป็นลมล้มลงกับพื้น มีโอกาสเสี่ยงที่ศีรษะกระแทกพื้นและอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงของสมองโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้บาดเจ็บที่หมดสติชั่วคราว จำเหตุการหลังจากศีรษะฟาดพื้นไม่ได้ ผู้ป่วยที่กินยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านเกล็ดเลือด หรือมีอาการปวดศีรษะคลื่นใส้อาเจียนมากหลังศีรษะกระแทก ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงดังกล่าวควรได้รับการตรวจทางรังสีเพื่อประเมินว่ามีภาวะเลือดออกในสมองหรือไม่ ในบางกรณีที่ความเสี่ยงสูงมากอาจต้องได้นอนสังเกตุอาการในโรงพยาบาลเป็นเวลา 24 ชั่วโมงแม้ผลตรวจทางรังสีปกติ ในผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บรุนแรงอาจมีอาการแสดงของการบาดเจ็บทางสมองทันที เช่น ซึม เรียกไม่รู้สึกตัว ชัก แขนขาอ่อนแรง ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลและเคลื่อนย้ายจากที่เกิดเหตุอย่างเหมาะสมโดยทีมฉุกเฉิน เพื่อนำส่งยังสถานพยาบาลที่เหมาะสมที่มีศัลยแพทย์ประสาทดูแล หากพบมีเลือดออกในสมองหรือมีภาวะสมองบวมแพทย์อาจต้องทำการผ่าตัดสมองเพื่อลดแรงดันในสมองจากการกดทับเนื้อสมอง เพื่อป้องกันอันตรายต่อผู้ป่วยที่จะทำให้เสียชีวิตหรือพิการตลอดชีวิต หากผู้ป่วยที่แพทย์ลงความเห็นว่าเป็นการบาดเจ็บที่ศีรษะในระดับไม่รุนแรง ภายหลังได้รับการรักษาเบื้องต้น และแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่มีความจำเป็นต้องได้รับการเฝ้าสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิดอีกอย่างน้อย 1-2 วัน (อาจจำเป็นต้องเฝ้าดูอาการนานขึ้นในผู้สูงอายุ บางรายอาจเกิดอาการได้หลายสัปดาห์หลังเกิดอุบัติเหตุ) และหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ต้องกลับมาพบแพทย์โดยเร็ว
ในฤดูร้อนแห่งการพักผ่อนและเทศกาลท่องเที่ยวนี้ นอกจากอากาศที่ร้อนแล้วถนนที่ลื่นจากการเล่นสงกรานต์ก็อาจนำมาซึ่งอันตรายได้ เราสามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ หากทุกคนใส่ใจให้ความระมัดระวังดูแลสุขภาพตนเอง โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กเล็ก
สิ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ การป้องกันอุบัติเหตุเป็นสื่งที่สำคัญที่สุด หากเราทุกคนช่วยกัน เล่นสงกรานต์อย่างไม่ประมาท ปฏิบัติตามกฎหมาย ทุกๆคนก็จะปลอดภัยมีสงกรานต์ที่มีแต่ความสุข แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมซึ่งในประเทศไทยเรามีระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ที่มีบุคลากรการแพทย์ พร้อมรถพยาบาลที่จะให้การดูแลเคลื่อนย้ายและส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสมอย่างรวดเร็วและปลอดภัย โดยประชาชนสามารถขอใช้บริการได้ที่เบอร์ 1669 ทั่วประเทศ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำปรึกษาด้านภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ และส่งทีมรถพยาบาลไปให้การดูแลเคลื่อนย้ายในกรณีที่จำเป็น ในบางครั้งการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บโดยขาดความรู้อาจนำไปสูการพิการ หรือเสียชีวิตได้
หากเกิดอุบัติเหตุ ศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ (Bangkok Trauma Center) โรงพยาบาลกรุงเทพ และศูนย์ประสานสั่งการทางการแพทย์ (BDMS Alarm Center) เป็นศูนย์กลางการประสานงานและอำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ รวมทั้งการรับ-ส่งต่อผู้ป่วยทั้งทางบกและทางอากาศ พร้อมรับแจ้งเหตุตลอด 24 ชั่วโมง ที่เบอร์โทร 1724 หรือ 1719 ซึ่งมีความพร้อมด้านเวชศาสตร์ ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง และทีมสหวิชาชีพพร้อมให้การดูแลอย่างต่อเนื่อง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit