บริษัทพัฒนาและผลิตหุ่นยนต์ชั้นนำ ยูนิเวอร์แซล โรบอทส์ ได้ประกาศว่า บริษัท นิสสัน มอเตอร์ ได้ประสบความสำเร็จในการนำแขนหุ่นยนต์รุ่น UR10 ของยูนิเวอร์แซล โรบอทส์ไปติดตั้งใช้งานที่โรงงานในโยโกฮามาประเทศญี่ปุ่น โดยก่อนหน้านี้ มีบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำของโลก ได้แก่ บีเอ็มดับเบิ้ลยูและโฟล์กสวาเกน ซึ่งได้นำหุ่นยนต์ที่สามารถปฏิบัติงานร่วมกับมนุษย์ได้ หรือ โคบอทส์ (Collaborative Robots: Cobots) ของยูนิเวอร์แซล โรบอทส์ไปใช้ในกระบวนการผลิตอัตโนมัติแล้ว หลังจากที่นำ Cobots ของยูนิเวอร์แซล โรบอทส์ไปติดตั้งใช้งาน กระบวนการผลิตของนิสสันก็มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ส่งผลให้สามารถผลิตชิ้นงานได้มากขึ้นและมีเสถียรภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุน ช่วยให้กำลังคนของนิสสันที่มีอายุมากขึ้นได้มีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบน้อยลงและหมุนเวียนไปปฏิบัติงานที่ใช้แรงงานน้อยลงได้
เชอร์มิน ก็อตเฟรดเซ็น ผู้จัดการใหญ่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย กล่าวว่า "เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้ร่วมงานกับนิสสันในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตของนิสสันให้เป็นระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลกมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการนำโคบอทส์ ไปประยุกต์ใช้เพื่อผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพดีขึ้น และนับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้ยังคงมีความสามารถในการแข่งขันในการตลาด ซึ่งยูนิเวอร์แซล โรบอทส์เป็นผู้นำเทรนด์นี้ โคบอทส์สามารถช่วยส่งเสริมกระบวนการผลิตอัตโนมัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและช่วยลดความตึงเครียดของพนักงานได้ โดยโคบอทส์ของเราไม่เพียงแต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานในอุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ อาหาร รวมไปถึงสินค้าการเกษตรได้อีกด้วย"
โคบอทส์เป็นสาขาหนึ่งที่แตกแขนงมาจากอุตสาหกรรมหุ่นยนต์สมัยดั้งเดิม โคบอทส์ มีน้ำหนักเบาและสามารถนำไปใช้งานได้สะดวก และมีความยืดหยุ่นในการดัดแปลงเพื่อนำไปประยุกต์ใช้งานในด้านต่างๆ อุตสาหกรรมยานยนต์ใช้โคบอทส์ในกระบวนการต่างๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการหยิบจับ การประกอบ การบรรจุ การจัดเรียง การติดฉลาก การทาสี การควบคุมคุณภาพ และการโหลดเครื่องจักร มูลค่าการตลาดของหุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2558 อยู่ที่ 23.56 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะพุ่งขึ้นถึง 469.82 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2564 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ในระดับ 64.67% ในระหว่างปี 2558 ถึง 2564
กำเนิดหุ่นยนต์ที่สามารถปฏิบัติงานร่วมกับมนุษย์ได้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ประเทศไทย
อุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมที่จะเติบโตในอัตราสูง โดยมีตลาดขนาดใหญ่ซึ่งมีอัตราการเติบโตของยอดขายที่สำคัญ เนื่องจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญของทวีปเอเชียและของโลก ดังนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ในระดับ 11% ในระหว่างปี 2553 ถึง 2558 การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนในอีกไม่นานนี้ คาดว่าจะทำให้ภาษีนำเข้าและส่งออกในภูมิภาคนี้ต่ำลง ซึ่งจะส่งผลให้มีความต้องการยานยนต์ที่คุ้มค่าและผลิตภายในภูมิภาคนี้สูงยิ่งขึ้น
ประเทศไทยและอินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางการผลิตที่มีความสะดวกเป็นพิเศษในการผลิตยานยนต์เพื่อส่งออกภายในภูมิภาคนี้ รวมถึงภายในทวีปเอเชียและในระดับโลก อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยคิดเป็นประมาณ 12% ของค่า GDP ทั้งประเทศ ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน และมีโครงข่ายบริษัทที่ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานซัพพลายเชน (Supply Chain)ในการผลิตรถยนต์ จึงทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยานยนต์อันดับต้นๆ โดยมีส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคนี้ถึง 49% และเนื่องจากว่ามีความต้องการกำลังการผลิตที่สูงขึ้น ดังนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยจึงกำลังเข้าสู่กระบวนการผลิตอัตโนมัติโดยใช้หุ่นยนต์ที่สามารถปฏิบัติงานกับมนุษย์ได้ในงานอุตสาหกรรม
แขนหุ่นยนต์รุ่น UR10 ที่บริษัท นิสสัน มอเตอร์
บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำเป็นต้องยกระดับกระบวนการผลิตของโรงงานในโยโกฮามาซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังจำเป็นต้องบริหารจัดการค่าแรงของกำลังคนที่มีอายุมากขึ้นและการสูญเสียบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ
คุณนากามูระ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเครื่องยนต์ของโรงงาน กล่าวว่า "เราจำเป็นต้องใช้หุ่นยนต์ขนาดใหญ่มากพอที่จะยก ส่วนควบรถยนต์ท่อร่วมไอดี (Intake Manifolds) ขนาดใหญ่ได้ ซึ่งมีขนาดถึง 6 กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับหุ่นยนต์ของบริษัทอื่นๆ แล้ว เราจึงเลือกรุ่น UR10 เนื่องจากความได้เปรียบในแง่ของราคาสำหรับหุ่นยนต์ตัวเดียว รวมไปถึงความสามารถในเรื่องการรับน้ำหนักได้ดีด้วย ในกระบวนการติดตั้งท่อร่วมไอดีนั้น มีเพียงแขนหุ่นยนต์รุ่น UR10 ที่สามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 10 กิโลกรัมเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เราพิจารณา"
โคบอทส์ของยูนิเวอร์แซล โรบอทส์เป็นแขนหุ่นยนต์ที่สามารถปฏิบัติงานร่วมกับมนุษย์ได้ในงานอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถใช้ในกระบวนการผลิตอัตโนมัติซึ่งรองรับน้ำหนักได้ถึง 10 กิโลกรัม และงานที่ต้องอาศัยความละเอียด แม่นยำ และความไว้วางใจได้ โคบอทส์ออกแบบมาให้มีรัศมีเอื้อมถึง 1300 มิลลิเมตรหรือประมาณ1.3 เมตร จึงสามารถทำงานในพื้นที่กว้างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสามารถประหยัดเวลาในสายการผลิตที่มีระยะทางเป็นปัจจัยสำคัญได้ โคบอทส์ของยูนิเวอร์แซล โรบอทส์สามารถตั้งโปรแกรมและตั้งค่าได้ง่าย โดยออกแบบมาให้เป็นเครื่องมือสำหรับทำงานร่วมกับมนุษย์ เพื่อให้การทำงานที่สลับซับซ้อนกลายเป็นงานที่ง่ายและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น หรือเป็นงานที่ต้องอาศัยความแข็งแกร่งทางร่างกายมากๆ
หลังจากที่พิจารณาเรื่องความปลอดภัยและคุณสมบัติต่างๆ ที่ต้องการแล้ว นิสสันจึงตัดสินใจใช้แขนหุ่นยนต์รุ่น UR10 ที่สามารถติดตั้งและตั้งโปรแกรมได้ง่าย และพร้อมใช้งานได้ภายใน 1 สัปดาห์ เมื่อนำแขนหุ่นยนต์รุ่น UR10 มาใช้งานที่นิสสันแล้ว พบว่าช่วยลดเวลาในการผลิตลงได้ ตลอดจนช่วยให้พนักงานไม่ต้องทำงานเดิมๆ ซ้ำซากจำเจ และไปทำงานในสายการผลิตอื่นเพื่อสั่งสมประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์แทน
คุณโอนิชิ หัวหน้าแผนกเครื่องยนต์ย่อย กล่าวว่า "เราสามารถตอบสนองต่อความล่าช้าในการผลิตได้อย่างฉับไว เนื่องจากเราสามารถเคลื่อนย้าย UR10 ได้อย่างสะดวกไปใช้งานในกระบวนการใดก็ได้ภายในโรงงานที่พบว่าเกิดปัญหา เราวางแผนที่จะใช้ โคบอทส์ เพิ่มเติมโดยผสานสมรรถนะของโรงงานเข้ากับความสามารถด้านวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจะเพิ่มระดับการใช้ โคบอทส์ของเราให้มากยิ่งขึ้น"หากต้องการรับชมข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการที่บริษัท นิสสัน มอเตอร์ใช้หุ่นยนต์รุ่น UR10 โปรดคลิกที่นี่ เพื่อดูคลิปวีดีโอ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit