พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัย ทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากอุบัติเหตุทางถนน โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 ซึ่งประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) โดยความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้บูรณาการสร้างความปลอดภัยทางถนนในรูปแบบ "ประชารัฐ" และการบริหารจัดการในมิติเชิงพื้นที่ ดำเนินการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ภายใต้แนวคิด "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" ตามมาตรการหลัก 6 ด้าน ครอบคลุมทั้งด้านถนน มุ่งแก้ไขจุดเสี่ยงและปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมทางให้ปลอดภัย ด้านยานพาหนะ คุมเข้มความปลอดภัยของยานพาหนะทุกประเภท โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ ด้านการสัญจร กำหนดมาตรการดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว ด้านการบังคับใช้กฎหมาย เน้นหนักการคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทั้งเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว และขับรถแซงในที่คับขัน ด้านความปลอดภัยทางน้ำ เน้นการตรวจสอบความปลอดภัยเส้นทางสัญจรทางน้ำ และด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ ให้สถานพยาบาลเตรียมพร้อมทีมแพทย์และหน่วยกู้ชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ จุดเกิดเหตุ อย่างทันท่วงที ควบคู่กับการควบคุมปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเพิ่มประสิทธิภาพกลไก การบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นมากขึ้น ด้วยการบังคับใช้กฎหมายจราจรตามปกติอย่างเคร่งครัด และยึดการปฏิบัติตามกฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะ คำสั่ง คสช. ที่ 46/2558 ที่ให้ยึดรถคนเมาแล้วขับตามมาตรการ "เมาแล้วขับตรวจจับยึดรถ" และคำสั่ง คสช. ที่ 14 และ 15 /2560 ซึ่งมุ่งดูแล ความปลอดภัยในการเดินทางทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล และรถโดยสารสาธารณะ โดยในช่วงควบคุมเข้มข้นระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2560 ได้สนธิกำลังทุกภาคส่วนจัดตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ ด่านชุมชน และจุดบริการประชาชนบนเส้นทางสายต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลา 12.00 – 24.00 น. เพื่อกวดขันการกระทำผิดวินัยจราจร ป้องปรามผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ รวมถึงอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน นอกจากนี้ ได้ใช้มาตรการทางสังคมในการเข้มงวดการสร้างความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ โดยจัดทำประชาคมหมู่บ้าน จัดตั้งด่านชุมชนและ จัดชุดอาสาสมัครสอดส่องดูแลความปลอดภัยในการเดินทางบนเส้นทางสายรอง รวมถึงจัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่ปลอดภัยและเหมาะสม ปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมรณรงค์การเล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณีวิถีไทยในขอบเขตที่เหมาะสมกับห้วงเวลาในการถวายความอาลัย แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทั้งนี้ ได้กำชับให้จังหวัดติดตามและประเมินสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนและรูปแบบการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา ช่วงเวลาในการเดินทางและเล่นน้ำสงกรานต์ในแต่ละพื้นที่ เพื่อลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงให้การเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขและถึงจุดหมาย อย่างปลอดภัย
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย รองประธานกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน คนที่ 1 กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้ใช้กลไกของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในระดับพื้นที่ที่ครอบคลุมทุกด้าน ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนตามแนวทาง "ประชารัฐ" มุ่งกวดขันการใช้ความเร็ว รถกระบะที่บรรทุกคนโดยสารเกินที่กำหนด เน้นดูแลเส้นทางสายรองในตำบล/หมู่บ้านและถนนสายรองที่เชื่อมต่อถนนสายหลัก พร้อมจัดให้มีถนนปลอดภัยตามมาตรการ "1 ท้องถิ่น 1 ถนนปลอดภัย" ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด รวมถึงกำหนดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Zoning) นอกจากนี้ ให้จัดชุดปฏิบัติการตำบล/หมู่บ้าน รณรงค์ประชาสัมพันธ์การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในรูปแบบ "เคาะประตูบ้าน" โดยใช้มาตรการกระตุ้นจิตสำนึกและมาตรการทางสังคม เพื่อสำรวจลูกบ้านที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ พร้อมว่ากล่าวตักเตือนและดูแลมิให้ออกไปสร้างความเดือดร้อน และเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้บูรณาการทุกภาคส่วนสร้างความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 โดยรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนผ่านกลไกของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประจำปี 2560 ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำหน้าที่ดำเนินการเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนกับศูนย์ปฏิบัติการฯ จังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติการฯ หลักรับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยในช่วงควบคุมเข้มข้นระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2560 จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประจำปี 2560 เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงประชุมทางไกลร่วมกับ ศูนย์อำนวยการฯ ระดับจังหวัดผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เป็นประจำทุกวัน เพื่อติดตามการดำเนินงานในระดับพื้นที่ เสนอแนะแนวทาง วางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน สภาพการจราจร และช่วงเวลาในการเดินทางของประชาชน อีกทั้งจะมีการแถลงสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนเป็นประจำทุกวัน ระหว่างวันที่ 12 – 18 เมษายน 2560 ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 ให้เหลือน้อยที่สุด ท้ายนี้ ศปถ. ขอความร่วมมือ ผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และมีน้ำใจต่อผู้ร่วมใช้เส้นทาง ยึดการปฏิบัติตามหลัก "4 ห้าม 2 ต้อง" ได้แก่ 4 ห้าม... ห้ามขับรถเร็ว ห้ามดื่มแล้วขับ ห้ามโทรแล้วขับ ง่วงห้ามขับ – 2 ต้อง...ต้องสวมหมวกกันน็อกและคาดเข็มนิรภัยทุกครั้ง เพื่อให้การเดินทางเป็นไป ด้วยความปลอดภัย