พล ต.ต. จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผู้บังคับการตำรวจจราจร กล่าวว่า "เทศกาลสงกรานต์เป็นอีกช่วงเวลาที่อุบัติเหตุทางท้องถนนเกิดขึ้นสูงมาก กองบังคับการตำรวจจราจรจึงมุ่งเน้นการรณรงค์อย่างต่อเนื่องในการกระตุ้นจิตสำนึกให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมขาดวินัยการจราจร ประมาท เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกกันน็อค เป็นต้น ด้วยความมุ่งหวังว่าเมื่อประชาชนเคารพในกฎจราจร ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดความเสี่ยงในการทำร้ายตนเองและผู้อื่นบนท้องถนน จะนำไปสู่การลดและป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนได้"
คุณธนากร คุปตจิตต์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ DMHT กล่าวว่า "ด้วยวิสัยทัศน์ของดิอาจิโอเรื่องแอลกอฮอล์กับสังคม ที่เชื่อว่าหากคนในสังคมมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการดื่มอย่างรับผิดชอบ ก็จะช่วยลดและป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดจาก การดื่มแล้วขับได้ โดยเราได้ดำเนินโครงการรณรงค์สนับสนุนพฤติกรรมการดื่มอย่างรับผิดชอบกว่า 300 โครงการใน 50 ประเทศทั่วโลก และยังมีเป้าหมายร่วมกับองค์การอนามัยโลก ลดอันตรายที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ลงให้ได้ 10% ภายในปี พ.ศ. 2568 รวมถึงร่วมมือกับบริษัทในอุตสาหกรรมอีก 12 รายทั่วโลก หรือ CEO Commitment จัดการกับปัญหาที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างไม่เหมาะสม ตอบรับการรณรงค์ขององค์การอนามัยโลก และสะท้อนความมุ่งมั่นของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม"
ในประเทศไทย บก.จร. และ DMHT ได้ร่วมกันจัดโครงการ "เมาไม่ขับ กลับปลอดภัย" อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 นอกจากการสนับสนุนด้านอุปกรณ์ต่างๆ ให้แก่ภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนน ยังมุ่งจัดกิจกรรมเพื่อปรับทัศนคติและกระตุ้นจิตสำนึกของผู้ขับขี่ให้ห่วงใยและใส่ใจสวัสดิภาพการเดินทาง ผ่านการอบรมการขับขี่อย่างปลอดภัย การจัดทำคู่มือกฎหมายจราจรเดลิเวอรี่ เป็นต้น
"เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงการร่วมกันสร้างความปลอดภัยบนถนน ก่อนที่จะเดินทางท่องเที่ยวหรือกลับบ้านกันระหว่างเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ บก.จร. และ DMHT จึงได้เดินรณรงค์ในย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ ทั้งสาทรและสีลม ในโครงการ "เมาไม่ขับ กลับปลอดภัย" และเรายังได้ร่วมมือกับสถานีตำรวจทั้ง 88 สถานี ตั้งจุดตรวจแอลกอฮอล์ 100 จุดต่อวัน ในช่วง 7 วันอันตราย ทั่วพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ นอกจากนี้ เรายังเพิ่มมาตรการตรวจสอบความพร้อมของผู้ขับขี่รถสาธารณะ และเตือนสติการขับขี่รถสาธารณะในสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพทั้ง 3 แห่ง คือจตุจักร เอกมัย และสายใต้ใหม่อีกด้วย" พล ต.ต. จิรสันต์ กล่าว
โครงการ "เมาไม่ขับ กลับปลอดภัย" ปีที่ 7 ยังนำเสนอแนวทางเตือนสติ 5 ข้อที่จะช่วยลดอุบัติเหตุ คือ ดื่มไม่ขับ ทั้งคนขับและคนนั่ง, ขับขี่อย่างมีสติและมีน้ำใจ, เมาแล้วขับ ตรวจจับแอลกอฮอล์, ง่วงอย่าขับ พักให้พอ และคาดเข็มขัดนิรภัย ใส่หมวกกันน็อค
"การดื่มแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน หากรณรงค์ให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สู่การดื่มอย่างมีสติ ดื่มอย่างรับผิดชอบต่อสังคม มีการร่วมมือกันอย่างจริงจังระหว่างภาครัฐ เอกชน ที่สำคัญ ตัวผู้บริโภคเอง ในการใส่ใจช่วยกันสร้างสังคมที่มีความปลอดภัย เชื่อมั่นว่า โครงการ "เมาไม่ขับ กลับปลอดภัย" นี้จะช่วยลดและป้องกันอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับ ลดจำนวนอุบัติเหตุบนถนนช่วงวันหยุดเทศกาลต่างๆ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระยะยาวในที่สุด" คุณธนากรกล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit