"ในประเทศไทยมีเพียงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก CDIO™ INITIATIVE ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 และ 2559 ตามลำดับ และได้นำแนวคิดในการจัดการศึกษาแบบซีดีไอโอมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์ ตั้งแต่เข้าร่วมเป็นสมาชิกและมีการประยุกต์ใช้การจัดการศึกษา ในศาสตร์อื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศิลปศาสตร์ บริหารธุรกิจ เทคโนโลยีการเกษตร เทคโนโลยีสื่อสารมวลชน และวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย สำหรับการประชุมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและต่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างเครือข่ายในการปฏิรูปสถาบันอุดมศึกษาไทยและนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป และได้รับเกียรติจาก ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุม 2017 CDIO Asian Regional Meeting" รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ณฐา คุปตัษเฐียร ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์ต่างประเทศ มทร.ธัญบุรี และ CDIO Leader & Collaborator ประเทศไทย อธิบายว่า การจัดการศึกษาแบบซีดีไอโอเป็นแนวคิดการจัดการศึกษา ซึ่งได้รับการพัฒนามาจากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจาก 4 สถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก คือ Chalmers University of Technology, KTH Royal Institute of Technology, Linkoping University ประเทศสวีเดน และ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ใกล้เคียงวิชาชีพวิศวกรมากที่สุด ซึ่งพบว่า บริบทของการทำงานวิชาชีพวิศวกร ได้แก่ การรับรู้ปัญหาจริงจากผู้ใช้ (Conceive) การออกแบบหรือหาแนวทางการแก้ปัญหา (Design) การสร้าง การผลิต และการประยุกต์ใช้ (Implement) และการนำไปใช้ดำเนินงานจริง (Operate) หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า CDIO ซึ่งได้รับการยอมรับและถูกนำไปใช้ในแวดวงการศึกษาทางวิศวกรรมศาสตร์และศาสตร์อื่น ๆ เพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ในโลกสากล โดยมีองค์กรกลางในชื่อ CDIO Worldwide INITIATIVEดำเนินการ ปัจจุบันมีสมาชิกในฐานะ Collaborator จำนวน 130 สถาบันทั่วโลก ซึ่ง มทร.ธัญบุรี และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำการจัดการศึกษาแบบซีดีไอโอ มาประยุกต์ใช้ระดับรายวิชา ระดับหลักสูตร จนถึงการเปลี่ยนแปลงระดับสถาบัน ซึ่งพบว่าเป็นกรอบแนวปฏิบัติที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการผลิตบัณฑิตสำหรับโลกยุคศตวรรษที่ 21
รศ.ดร.ณฐา อธิบายอีกว่า มทร.ธัญบุรี ให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษาแบบซีดีไอโอ เพราะเป็นกรอบแนวคิดที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศในการให้ความรู้ การเตรียมความชำนาญ พร้อมด้วยทัศนคติและเจตคติแก่ผู้เรียน ทั้งยังตอบโจทย์ผู้บริหารการศึกษา และผู้สอนในการสร้างบัณฑิตให้มีคุณสมบัติตามที่สถานประกอบการต้องการ เน้นทักษะด้านการสื่อสาร การคิด และการทำงานเป็นทีม เพื่อสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพที่จบออกไปแล้วสามารถทำงานในภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล
สิ่งที่ได้จากการจัดการประชุมวิชาการครั้งนี้นอกจากเสริมสร้างความรู้เข้าใจอันนำไปสู่แนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับซีดีไอโอแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือและสร้างเครือข่ายทางวิชาการในอนาคต เพื่อการพัฒนาบัณฑิตของประเทศสู่โลกการทำงานต่อไป ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสาร CDIO มทร.ธัญบุรี ได้ที่www.cdio.rmutt.ac.th หรือทาง facebook.com/cdiothailand