นางสาวรังษิต ภู่ศิริภิญโญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงโครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลายฤดูนาปรัง ปี 2560 ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน เพื่อลดรอบการทำนาปรังและสร้างรายได้จากการปลูกพืชอื่นทดแทนในพื้นที่จังหวัดเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ด้วยการแนะนำให้ชาวนาปลูกพืชทางเลือกอื่นๆ ที่ใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง และพืชผักต่างๆ ทดแทนการทำนาปรังในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 ถึงเมษายน 2560 โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ไร่ละ 2,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 5 ไร่
โครงการดังกล่าวเริ่มเมื่อเดือนกันยายน 2559 จนถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรที่สนใจและได้ยืนยันการปลูกแล้วกว่า 38,700 ราย คิดเป็นพื้นที่กว่า 185,900ไร่ กระจายอยู่ในพื้นที่ 20 จังหวัด เขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจังหวัดที่มีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวนมาก ได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท เป็นต้น
จากการลงพื้นที่ของ สศก. เพื่อสำรวจข้อมูลเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ช่วงปลายเดือนมีนาคม ถึงต้นเดือนเมษายน 2560 ในพื้นที่ตัวอย่าง 13 จังหวัด พบว่า เกษตรกรสามารถทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตมาจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้แล้ว โดยเฉพาะที่มีการเริ่มปลูกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึง ธันวาคม 2559 ในเบื้องต้นมีความพอใจกับรายได้ที่ได้รับ และเห็นว่าปัญหาภัยแล้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความตระหนักและสนใจที่จะหันมาปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนา เพราะนอกจากช่วยให้มีรายได้เสริมแล้ว ยังช่วยปรับปรุงบำรุงดินให้ดีขึ้นด้วยจากการปลูกพืชหมุนเวียน ซึ่งในส่วนของค่าใช้จ่ายที่โครงการจะสนับสนุนนั้น เกษตรกรจะนำมาเป็นเงินลงทุนเพื่อการทำการเกษตรในฤดูฝนที่จะถึงนี้เป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะบูรณาการร่วมกันในการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพแบบต่อเนื่อง ทั้งด้านเตรียมการให้ความรู้ และข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดก่อนการตัดสินใจปรับเปลี่ยนมาสู่รูปแบบการผลิตใหม่เพื่อลดปริมาณข้าวในช่วงแล้ง และสร้างรายได้ทางเลือกอื่นให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit