คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ กอสส. นำโดย ว่าที่ร้อยตรีสุรพล ดวงแข รองประธาน กอสส. พร้อมด้วย ศ.ดร.สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ รศ.ดร.เริงชัย ตันสกุล ดร.ถนอมศักดิ์ บุญภักดี ดร.ธนวรรธน์ อิ่มสมบูรณ์ และนายสวัสดิ์ สมัครพงศ์ กรรมการ กอสส. ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเบื้องต้นและรับฟังความคิดเห็นกับตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ ต.ปากบาง อ.เทพา จังหวัดสงขลา ต่อกรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งหากรอให้โครงการเหล่านี้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เสร็จสิ้นเสียก่อน อาจเป็นการล่าช้าเกินไปต่อการรวบรวมข้อมูลจำนวนมากให้ครบถ้วนภายในกรอบเวลา 60 วัน อาจไม่เพียงพอและอาจเป็นที่กังขาต่อสาธารณะว่าเป็นรายงาน EHIA ที่ไม่ครอบคลุมทุกมิติ ดังนั้น จำเป็นต้องมีการรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ตลอดจนเป็นการสนับสนุนสิทธิชุมชนของคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงข้อมูลได้อย่างกว้างขวาง
นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานเครือข่ายประชาชนชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพใต้ (Permatamas) และเครือข่ายภาคประชาชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยืนยันว่าทางเครือข่ายเชื่อมั่นในกระบวนการขององค์กรต่างๆที่ลงมาในพื้นที่ หากทุกคนร่วมมือกันในการดำเนินโครงการอย่างสันติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ ผู้ประสานเครือข่ายฯ ระบุว่า โครงการที่รัฐจะสร้างขึ้นไม่ได้หมายความว่า สร้างได้หรือไม่ได้ แต่ทางเครือข่ายอยากให้มีการพูดคุยกันอย่างจริงใจ และนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการตัดสินใจเหมือนกับการเจรจาสันติภาพที่ผ่านมา แต่ปัญหาขณะนี้คือ รัฐตัดสินใจเอาโครงการขนาดใหญ่นี้ เช่น โรงไฟฟ้า และท่าเรือน้ำลึก ลงมาดำเนินการท่ามกลางความสงสัยและความกังวลของประชาชนใน 5 จังหวัดภาคใต้ ได้ทำลายกระบวนการเจรจาสันติภาพ ทำลายความไว้วางใจ เกิดปัญหาความแตกแยกของคนในชุมชน วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เนื่องจากที่ผ่านมามีความก้าวหน้าในการหาทางออกเรื่องความขัดแย้งมาด้วยดีตามลำดับ แต่เมื่อมีการนำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียเรื่องโรงไฟฟ้าดังกล่าว กลับทำให้บรรยากาศที่เริ่มตกลงกันได้หลายประเด็นหดหายไป และยังทำให้บรรยากาศความไว้วางใจหมดไป นำมาซึ่งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ขาดการรับฟังข้อเท็จจริงจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจริงๆ อีกทั้งมองว่า การที่รัฐนำเรื่องโรงไฟฟ้าเข้ามาจะเป็นการแสดงถึงความสำเร็จเรื่องความไม่สงบในพื้นที่ว่าไม่มีปัญหาดังกล่าวจึงนำโครงการนี้เข้ามาในพื้นที่ได้ ซึ่งที่ผ่านมา ในการสร้างโรงไฟฟ้าจะนะก็ได้สร้างความบอบช้ำให้กับคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ดังนั้น รัฐไม่ควรนำโครงการนี้เข้ามาซ้ำเติมคนในพื้นที่อีก ขณะที่ประเด็นที่ตั้งของโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว เป็นการพื้นที่แหล่งอาหาร ชุมชนดั้งเดิมและศาสนสถาน เพราะเมื่อโครงการเกิดขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และความรู้สึกของคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ผู้ประสานเครือข่ายฯ เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินโครงการดังกล่าว เพราะเชื่อมั่นศักยภาพของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ควรพัฒนาในด้านอื่นๆได้ ทั้งการพัฒนาระบบการศึกษา ส่งเสริมเขตการค้าชายแดน และการท่องเที่ยว ที่สำคัญคือ เสนอให้รัฐสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทดแทน โรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งจะเป็นพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของคนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม
ด้านนายจักริน เดชสถิตย์ ส่วนงานแผนและยุทธศาสตร์ สำนักงานพลังงานจังหวัดสงขลา กล่าวถึง ข้อพิพาทร้องเรียนด้านพลังงานกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น ทางพลังงานจังหวัดมีบทบาทในการนำเรื่องการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ กฟผ. แจ้งมายังสำนักงานพลังงานจังหวัดนำเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดทุกขั้นตอน และผู้ว่าราชการจังหวัดจะมอบหมายให้พลังงานจังหวัดติดตามเรื่องและเข้าร่วมงาน
ส่วนเรื่องความมั่นคงของพลังงาน และพลังงานทางเลือกนั้น ปัจจุบันโรงไฟฟ้าจะนะมีกำลังการผลิตประมาณ 1,580 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 97 % ซึ่งมาจากเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติมาจากแหล่งจีดีเอในอ่าวไทยที่เป็นเชื้อเพลิงหลัก ประกอบด้วย 2 ชุด คือชุดที่ 1 ขนาด 800 MW และชุดที่ 2 ขนาด 700 MW และอีก 3 % เป็นพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากชีวมวลในจังหวัดสงขลา แต่เมื่ออีก 17 ปีข้างหน้า ก๊าซธรรมชาติหมดลง ก็จะต้องมีพลังงานแหล่งอื่นมาทดแทน อย่างพลังงานจากถ่านหิน พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น โดยมีสัดส่วนภาคอุตสาหกรรม:ภาคครัวเรือน เท่ากับ 70:30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการใช้พลังงานในภาคใต้
ส่วนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีแผนสร้างโรงไฟฟ้าเทพา และโรงไฟฟ้ากระบี่รวมกันประมาณ 3,000 MW เพื่อความเสถียรภาพของพลังงานในภาคใต้ แต่เกินความต้องการในภาคใต้ กระไฟฟ้าเหล่านี้จะนำไปสนับสนุนกับภาคตอนบนหรือโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า แต่ไม่ได้สร้างมาเพื่อจะส่งขายไปยังต่างประเทศ