ทั้งนี้ "หมอลี่" เปิดเผยว่า ตัวแทนบริษัทฯ ชี้แจงว่า เรื่องที่กำลังเป็นประเด็นปัญหาของโทรศัพท์มือถือรุ่น Mate 9 และ P10 นั้น เป็นปัญหาคนละลักษณะกัน โดยยืนยันว่าในส่วนของ LPDDR4 นั้น ไม่มีปัญหาในทั้งสองรุ่นอย่างแน่นอน เพราะทั้งสองรุ่นใช้ชิพ Kirin960 ซึ่งไม่รองรับ LPDDR3 จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะพบปัญหานี้ แต่ที่ปรากฏเป็นข่าวเพราะผู้ใช้งานกลุ่มหนึ่งใช้แอพตรวจหารุ่นของหน่วยความจำ ซึ่งบางแอพมีข้อจำกัดทางเทคนิค ทำให้รายงานผลผิดพลาด ไม่ใช่บริษัทใช้หน่วยความจำผิดรุ่น
ส่วนในประเด็นหน่วยความจำภายในของโทรศัพท์มือถือรุ่น P10 นั้น ทางตัวแทนหัวเว่ยระบุว่า ตั้งแต่วางจำหน่ายบริษัทไม่เคยประกาศหรือโฆษณาว่าใช้มาตรฐาน UFS 2.1 เท่านั้น เพราะบริษัทมีนโยบายใช้หน่วยความจำจากหลายผู้ผลิต ที่ผ่านมาตรฐานคุณภาพ ไม่ได้มีการเปลี่ยนสเป็กเครื่องแต่อย่างใด ต่างจากเครื่องรุ่น Mate 9 ที่บริษัทยอมรับว่ามีการระบุในส่วน ROM UFS 2.1 จริง และยืนยันว่าเครื่อง Mate 9 ทุกเครื่องเป็นไปตามมาตรฐานนี้ ตรงกับที่บริษัทโฆษณาไว้จริง และความเร็วการอ่านข้อมูลของมาตรฐาน UFS 2.0 และ UFS 2.1 ไม่ต่างกันตามเอกสารของ JEDEC ส่วนที่แตกต่างกันชัดเจนเป็นคุณสมบัติอื่น เช่น ความปลอดภัยของข้อมูล การอัพเดทการตรวจสอบสถานะของเครื่อง หรือคุณสมบัติอื่นๆ แอพวัดความเร็วของข้อมูลที่กลุ่มผู้ใช้งานนำมาทดสอบแล้วสรุปว่า ความเร็วเท่าไรเป็น UFS 2.0 ถ้าเร็วกว่านี้เป็น UFS 2.1 ไม่ใช่ตัวตัดสินได้อย่างแท้จริง ต้องใช้อุปกรณ์มาตรฐานในการตรวจสอบ
สำหรับการถอดข้อความเกี่ยวกับ UFS 2.1 ในหน้าเว็บของรุ่น Mate 9 ทางตัวแทนบริษัทฯ อ้างว่าเป็นการดำเนินการของสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ ไม่ใช่เพื่อปกปิดข้อมูล แต่เป็นเพราะบริษัทไม่เคยระบุข้อความทำนองนี้ในเครื่องรุ่น P 10 แล้วทำให้ผู้ใช้งาน P 10 รู้สึกถึงความไม่เหมือนกันของข้อมูลกับรุ่นที่ตนใช้ บริษัทจึงพยายามปรับการนำเสนอข้อมูลทั้งสองรุ่นในลักษณะเดียวกัน ไม่ได้คาดคิดว่าจะทำให้เกิดข้อสงสัยมากมายดังที่เกิดขึ้นนี้ ซึ่งบริษัทพร้อมจะพิสูจน์ว่าเครื่อง Mate 9 ทุกตัวได้มาตรฐาน UFS 2.1 ตามที่เคยแจ้งไว้ก่อนแล้ว
"อย่างไรก็ดี ภายหลังรับฟังคำชี้แจงแล้ว ผมก็ได้ขอให้บริษัทส่งหลักฐานข้อกำหนดทางเทคนิคของชิพKirin960 ว่าเป็นไปตามที่บริษัทชี้แจงหรือไม่ และวิธีการตรวจสอบหรือรหัสรุ่นของหน่วยความจำที่บริษัทใช้เพื่อยืนยันอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งขอให้บริษัทหาผู้เชี่ยวชาญหรืออุปกรณ์ที่เป็นกลางที่ใช้ในการตรวจสอบ ให้ กสทช. พิจารณาความน่าเชื่อถือของเครื่องมือ เพื่อที่จะได้ร่วมกันพิสูจน์ต่อหน้ากลุ่มผู้ใช้งานที่เกิดความสงสัยให้ได้ความจริงต่อไป หากตรวจสอบแล้วไม่พบ UFS 2.0 ปัญหาก็จะได้ยุติ" นายประวิทย์กล่าว
นอกจากการขอให้ทางหัวเว่ยส่งหลักฐานและพิสูจน์ความถูกต้องแล้ว นายประวิทย์ยังได้มอบหมายให้ทางสำนักงาน กสทช. ตรวจสอบคำขอรับรองมาตรฐานในส่วนแคตตาล็อกและข้อกำหนดทางเทคนิคของทั้งสองรุ่นที่บริษัทเคยยื่นมา ว่าตรงกับคำชี้แจงของบริษัทหรือไม่ เพราะอยู่ในอำนาจหน้าที่โดยตรงของสำนักงาน กสทช. หากตรงกันก็ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม แต่หากไม่ตรงก็จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยละเอียดและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit