SACICT หรือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) จัดพิธีเปิดงาน "อัตลักษณ์แห่งสยาม" ครั้งที่ 8 ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติ และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงงานเพื่อสร้างอาชีพให้แก่พสกนิกรชาวไทย พร้อมเชิดชูครูช่างศิลป์ ที่รังสรรค์งานศิลปหัตถกรรม อันมีเอกลักษณ์โดดเด่น และร่วมสืบสานอนุรักษ์ ศิลปหัตถกรรมไทยที่กำลังจะสูญหาย อันเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติ
โดยในพิธีเปิดงานฯ ได้รับเกียรติจาก นายศรีภูมิ ศุขเนตร ที่ปรึกษาพิเศษ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เป็นประธาน พร้อมด้วย นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ให้การต้อนรับ โดยมีไฮไลท์ในพิธีเปิดกับการแสดงชุด "โขน 2 ยุค...ศาสตร์และศิลป์แผ่นดินสยาม" ซึ่งเป็นการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนกำเนิดหนุมานและยกรบ ร่วมแสดงโดย พระเอกหนุ่ม บิ๊กเอ็ม กฤตฤทธิ์ บุตรพรม กับการถ่ายทอดบทบาททศกัณฐ์เป็นครั้งแรก ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับแขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนที่เข้าร่วมพิธีเปิดเป็นอย่างมาก
งาน"อัตลักษณ์แห่งสยาม" ครั้งที่ 8 ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 3 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 "เพราะรักราษฎร์" จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พร้อมการฉายวีดีทัศน์ "เพราะรักราษฎร์" ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเสด็จเยี่ยมราษฎรทั้ง 4 ภาค เพื่อแสดงถึงห่วงใยในทุกข์สุข ความเป็นอยู่ของพสกนิกร
โซนที่ 2 "เล่าขานตำนานหัตถศิลป์" จัดแสดงผลงานของครูช่างศิลป์ที่กำลังจะสูญหาย ผ่านนิทรรศการ "หัตถกรรมที่กำลังจะสูญหาย" แสดงผลงาน ชีวประวัติ พร้อมถ่ายทอดเทคนิคของการผลิตชิ้นงานอันวิจิตรบรรจงของครูช่างศิลป์ ทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ ครูเสน่ห์ แจ่มจิรารักษ์ ชาวจังหวัดนนทบุรี ครูผู้มีทักษะฝีมือในงานตะลุ่ม เตียบ พานแว่นฟ้า ซึ่งยึดแบบฉบับช่างชั้นสูง สืบทอดจากบรรพบุรุษในสมัยกรุงศรีอยุธยา คงรูปลักษณ์ กรรมวิธี และภูมิปัญญาดั้งเดิม พร้อมพัฒนารูปทรงให้เหมาะกับยุคสมัย ครูวิรัตน์ ปิ่นสุวรรณ ชาวจังหวัดสมุทรสงคราม ครูผู้มีทักษะฝีมือในงานเบญจรงค์ ที่มีเทคนิคการลงสีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยทักษะฝีมือที่มีความประณีต ละเอียด สวยงาม จึงทำให้แต่ละผลงานเบญจรงค์แต่ละชิ้นงานเป็นงานหัตถศิลป์ที่มีคุณค่ายิ่ง ครูดิเรก สร้อยสีดา ครูผู้มีทักษะฝีมือในงานสลักดุน ที่มีลักษณะเด่นของการดุนโลหะแบบล้านนา เป็นการสืบทอดภูมิปัญญาด้านการทำเครื่องเงินและจิตกรรมฝาผนังด้านการต้องลายด้วยแผ่นอลูมิเนียม เงิน และทองแดง
ชมนิทรรศการความเป็นมาของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ในโซนที่ 3 "SACICT สืบสานคุณค่าแห่งศิลปาชีพ" แนะนำบทบาทสำคัญในการส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยสู่ระดับสากล โดยนำเสนอในรูปแบบ Layer Art ที่น่าสนใจ ทันสมัย เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ ให้สนใจในศิลปหัตถกรรมของไทย พร้อมนิทรรศการ หอเกียรติยศ ซึ่งรวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเวิร์คช็อป สร้างสรรค์ผลงานหัตถศิลป์กับครูช่างศิลป์อย่างใกล้ชิด และพลาดไม่ได้ กับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยที่ทรงคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นงานเครื่องทอง เครื่องเงิน ผ้าทอ ผ้าบาติก งานจักสาน หัวโขน เครื่องหนัง ของแต่งบ้าน งานแกะสลัก เครื่องแต่งกาย ฯลฯ ระดับฝีมือชั้นครูจากครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทศิลปหัตถกรรม ของ ศ.ศ.ป. รวมกว่า 50 ร้าน ทั่วประเทศ
พร้อมสัมผัสความตระการตากับการแสดงบนเวทีที่สื่อถึงศิลปวัฒนธรรม ตลอดการจัดงาน ทั้ง 4 วัน โดยมีรูปแบบการแสดงที่หลากหลายเพื่อดึงดูดผู้ชมทุกเพศทุกวัย อาทิ การแสดงวัฒนธรรมไทยชุดกลองสะบัดชัย การแสดงวัฒนธรรมไทยชุดไทยสัปยุทธ์ การแสดงวัฒนธรรมไทยชุดพ่อองค์อัครศิลปิน การแสดงวัฒนธรรมไทยชุดโขนถวายลิง การแสดงวัฒนธรรมไทยชุดเทวราชเทวโลก การแสดงวัฒนธรรมไทยชุดระบำตาลีบุหงารำไป การแสดงวัฒนธรรมไทยชุดโนราห์ การแสดงวัฒนธรรมชุดกลองยาวหรรษา เป็นต้น รวมถึงศิลปินดารามากมายที่จะมาร่วมสร้างความบันเทิง ได้แก่ วันศุกร์ที่ 28 เมษายน พบกับ ฟิล์ม บงกช เจริญธรรม, วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พบกับ เก่ง ธชย ประทุมวรรณ และ วันอาทิตย์ที่ 30 พบกับ ซานิ นิภาภรณ์ ฐิติธนการ
งาน "อัตลักษณ์แห่งสยาม" ครั้งที่ 8 เริ่มแล้ววันนี้ - 30 เมษายน 2560 ณ แฟชั่น ฮอลล์ ชั้น 1 และไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ในเวลา 10.00 – 22.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายงานพัฒนาการตลาด ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) โทร. 035 367 054 – 6 ต่อ 1376 หรือสายด่วน 1289 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.sacict.or.th หรือเฟซบุ๊คแฟนเพจ "อัตลักษณ์แห่งสยาม" และอินสตาแกรม SIAMIDENTITY_EVENT
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit