นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ AAE-1 เป็นโครงการเคเบิลใยแก้วใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่ล่าสุด ที่ใช้รองรับการเชื่อมต่อสื่อสารโทรคมนาคม โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระหว่างประเทศ มีระยะทางของเส้นเคเบิลใยแก้วนำแสงทั้งสิ้นประมาณ 25,000 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียตะวันออก ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป โดยเป็นระบบเคเบิลใต้น้ำข้ามทวีปที่มีความจุสูงเส้นแรก ที่มีแนวเคเบิลเส้นทางหลักจากฮ่องกง พาดผ่านทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีจุดขึ้นบก ณ จังหวัดสงขลา และเชื่อมต่อผ่านสายไฟเบอร์ออพติคภาคพื้นดิน (Thailand Crossing) ไปยัง จังหวัดสตูล เพื่อเชื่อมต่อไปยังยุโรป เสมือนเป็น land bridge ทางด้านโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ที่ช่วยลดระยะทางการเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างเอเชียและยุโรป โดยระบบ AAE-1 เป็นระบบเคเบิลใต้น้ำที่มีระยะเวลาในการส่งข้อมูลระหว่างเอเชียตะวันออกและยุโรปต่ำสุด และยังเป็นระบบเคเบิลใต้น้ำเส้นแรกที่ทำให้ประเทศไทยมีวงจรเชื่อมต่อโดยตรงไปยังประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Internet Hub) ที่สำคัญของโลก ได้แก่ฮ่องกง สิงคโปร์ และ ฝรั่งเศส และยังเชื่อมต่อโดยตรงไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป รวม 18 ประเทศ ได้แก่ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เวียดนาม กัมพูชา ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย ปากีสถาน โอมาน สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ กาตาร์ เยเมน จิบูตี ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ กรีซ อิตาลี ฝรั่งเศส ซึ่งจะสามารถช่วยเสริมศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Digital Hub) ตามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน
สำหรับระบบเคเบิลใต้น้ำ AAE-1 เป็นระบบเคเบิลใต้น้ำที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุด 100 Gbps ต่อหนึ่งลำแสง และเป็นระบบมีขนาดความจุรวมมากกว่า 40 Tbps และมีความจุเชื่อมต่อเข้าประเทศไทยสูงสุดในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ โดยลดระยะเวลาในการส่งข้อมูลได้มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับระบบที่มีในปัจจุบัน โดยมี ทีโอที เป็นผู้ลงทุนจากประเทศไทยร่วมกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำในประเทศต่างๆ อีก 18 ราย
นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ทีโอที กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบ AAE-1 เป็นเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ 1 ใน 3 ระบบ ที่ ทีโอที ได้รับอนุมัติจาก คสช. เมื่อปี 2557 ปัจจุบัน มีความคืบหน้าโดยรวมมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ และ มีกำหนดเปิดใช้งานในส่วนของเส้นทางประเทศไทย–สิงคโปร์ และไทย – ฝรั่งเศส ในไตรมาศสองปี 2560 โดยนอกจากจะนำมาใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพการให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตของ ลูกค้า ทีโอที เองแล้ว ทีโอที ยังมีแผนให้บริการวงจรระหว่างประเทศแก่ผู้ให้บริการรายอื่นๆ ทุกราย เพื่อสนับสนุนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และเป็นช่องทางให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านต่างๆ ของประเทศไทย เช่น สถานที่ท่องเที่ยว และสินค้าตามหมู่บ้านชนบทต่างๆ ของไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งประเทศให้ดีขึ้นบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)ฝ่ายประชาสัมพันธ์องค์กรและสื่อสารการตลาดโทร 02 505 1212โทรสาร 02 574 9541