โดยกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (ชนิดจ่ายเงินปันผล) มีผลการดำเนินงาน 6 เดือนอยู่ที่ 9.87% (ข้อมูล ณ วันที่ 12 เม.ย.2560) มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว คือ Nikkei 225 Exchange Traded Fund (กองทุนหลัก) เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน บริหารงานโดย Nomura Asset Management Co.,Ltd. จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และลงทุนในสกุลเงินเยน มีนโยบายเน้นลงทุนในตราสารทุนทั้งหมดที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีนิคเคอิ 225 และตราสารทุนที่กำลังจะมาเป็นส่วนประกอบของดัชนีนิคเคอิ 225 ในสัดส่วนการลงทุนเดียวกับจำนวนหุ้นในดัชนีนิคเคอิ 225 (Nikkei 225 Index หรือ Nikkei Stock Average) มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าสินทรัพย์ที่ลงทุนในต่างประเทศ
ส่วนอีกกองทุน คือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้น LOW VOLATILITY (SCBLEQ) สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 28 เมษายน 2559 - 31 มีนาคม 2560 จ่ายเงินปันผลในอัตรา 0.2800 บาทต่อหน่วย ซึ่งจ่ายปันผลระหว่างกาลครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 ต.ค.2559 ไปแล้ว 0.1300 บาทต่อหน่วย เหลือจ่ายงวดนี้ 0.1500 บาทต่อหน่วย เป็นการจ่ายปันผลครั้งที่ 2 (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อ 28 เม.ย. 2559) โดยมีผลการดำเนินงาน 6 เดือนอยู่ที่ 4.76% (ข้อมูล ณ วันที่ 12 เม.ย.2560) มีนโยบายการลงทุนเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองเดียว ได้แก่ กองทุน AB Low Volatility Equity Portfolio : Share Class I บริหารโดย Alliance Bernstein L.P ลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์ โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ กองทุน AB Low Volatility Equity Portfolio มีการลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนต่ำตลอดจนบริหารการลงทุนแบบเชิงรุก เพื่อหาโอกาสสร้างผลตอบแทนในทุกสภาวะตลาด เน้นบริหารในรูปของความเสี่ยงและผลตอบแทนของพอร์ตโดยรวม โดยไม่อิงกับน้ำหนักการลงทุนของดัชนีอ้างอิง ซึ่งจะช่วยให้กองทุนสามารถป้องกันความเสี่ยงขาลงและสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากตลาดในระยะยาวได้
นายสมิทธ์ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมการลงทุนนั้นมองว่าความไม่ชัดเจนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และเกาหลีเหนือ ส่งให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ถึงเกือบ 8% จากต้นปีถึงกลางเดือนเมษายน กดดันให้ดัชนี Nikkei225 ปรับตัวลงกว่า 4% ในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังคงมีความน่าสนใจเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ โดยค่า P/E ปัจจุบันของดัชนี Nikkei225 อยู่ที่ 16 เท่ายังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีซึ่งอยู่ที่ 17.5 เท่า ขณะที่ตลาดหุ้นอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ค่า P/E ปัจจุบันปรับขึ้นไปอยู่เหนือค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีค่อนข้างมาก ทำให้โอกาสในการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีสูงกว่า
ทั้งนี้หากมองไปถึงช่วงปลายปี ปัจจัยบวกที่สำคัญต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น ได้แก่ การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการลดปริมาณการถือครองสินทรัพย์ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เข้าซื้อหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 ที่ปัจจุบันมีขนาดถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ นอกจากนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มที่จะคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสนับสนุนการเร่งตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่ต้องจับตามองสำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่น คือการขยายตัวน้อยกว่าคาดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยหรือลดขนาดการถือครองสินทรัพย์ไปเร็วเท่าการคาดการณ์ รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างประเทศ และความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลลบต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นในระยะถัดไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit