กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการทุกภาคส่วน ยกระดับนาแปลงใหญ่ มุ่งเน้นการพัฒนาด้านการตลาดข้าว ผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด พร้อมบริหารจัดการนาแปลงใหญ่ตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพ

26 Apr 2017
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อเชื่อมโยงและพัฒนาการตลาดสินค้าข้าวนาแปลงใหญ่ ณ ห้องประชุมพะยูน อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง ว่า การจัดประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดการบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานนาแปลงใหญ่ และมุ่งเน้นการพัฒนาด้านการตลาดข้าวโดยมีการจัดทำแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด อีกทั้งเพื่อบริหารจัดการนาแปลงใหญ่ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และภาคส่วนที่เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมข้าว ตั้งแต่ระดับต้นทาง-ปลายทาง

นางสาวชุติมา กล่าวต่อไปว่า ได้หารือถึงแผนการผลิตข้าวครบวงจรที่ได้ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าว (นบข.) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 มีการคาดการณ์ปริมาณความต้องการข้าว เป้าหมาย 29.5 ล้านตัน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศพื้นที่ส่งเสริมการปลูกข้าวจำนวน 66.69 ล้านไร่ เพื่อผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยมีการกำหนดพื้นที่การปลูกข้าวในระดับจังหวัด และมีโครงการนาแปลงใหญ่ ซึ่งสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม เปลี่ยนวิธีการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าผลผลิต การบริหารจัดการ และการตลาด โดยในปี 2559 มีนาแปลงใหญ่รวมทั้งประเทศจำนวน 425 แปลง คิดเป็นพื้นที่1.047 ล้านไร่ และในปี 2560 มีนาแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นจำนวน 750 แปลง พื้นที่ 744,000 ไร่

อย่างไรก็ตาม จะดำเนินงานในรูปแบบโครงการประชารัฐ ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนมีบทบาทในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับต้นทางถึงปลายทาง เกษตรกรต้องมีการรวมตัวกันในการผลิตข้าวคุณภาพทั้ง GAP และข้าวอินทรีย์ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการผลิต เช่น ผู้ประกอบการรถเกี่ยวข้าว ต้องมีการบริหารจัดการรถเกี่ยวร่วมกันอย่างเป็นระบบ ผู้ประกอบการปุ๋ยและการอารักขาพืช ให้คำแนะนำการใช้ที่ถูกต้องกับชาวนาและจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม รวมถึง ผู้ประกอบการโรงสีข้าว วางแผนให้มีโรงสีที่ได้มาตรฐาน GMP มาให้บริการสีข้าว GAP และข้าวอินทรีย์ อีกทั้ง ยังมีบทบาทในการให้ข้อมูลด้านการตลาดแก่เกษตรกร นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ Modern Trade เพิ่มช่องทางการจำหน่ายข้าวคุณภาพ เช่น ลดค่าแรกเข้าผู้ส่งออกข้าวคุณภาพ ช่วยทำตลาดข้าวคุณภาพของไทยในต่างประเทศในราคาที่สูงกว่าข้าวทั่วไป การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวเป็นอาหารเสริมหรือเครื่องสำอาง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในสัดส่วนที่สูงให้แก่ผลิตภัณฑ์จากข้าว เป็นต้น

"ทั้งนี้ การเชื่อมโยงและพัฒนาการตลาดสินค้าข้าวนาแปลงใหญ่ดังกล่าว จะนำไปสู่ความร่วมมืออย่างยั่งยืนในการสนับสนุนให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่สามารถผลิตข้าวคุณภาพที่มีความปลอดภัยต่อตนเอง ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงกว่าข้าวทั่วไป ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของชาวนาไทยทั้งประเทศ ตอบรับกับนโยบาย Thailand 4.0 และการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่ความยั่งยืนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย" นางสาวชุติมา กล่าว