นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายของ วธ. ที่มุ่งส่งเสริมการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ให้มีการรักษา สืบทอด และพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งผลักดันสังคมไทยให้เป็นสังคม แห่งคนดีมีคุณธรรมจริยธรรม เอื้ออาทร และมีความปรองดอง สมานฉันท์มากขึ้น ดังนั้น วธ.ได้ร่วมมือกับสมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย สถาบันปรัชญาตะวันออก และมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก จัดงานนิทรรศการ "สัทธรรมปุณฑริกสูตร – สารแห่งสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว" ระหว่างวันที่ 3 พฤษภาคม-28 มิถุนายน 2560 เวลา 10.00 - 19.00 น.ณ สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย สำนักงานใหญ่ (ถนนติวานนท์) จังหวัดนนทบุรีโดยการจัดนิทรรศการครั้ง มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่แนวคิดแห่งสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวตามที่ปรากฏอยู่ในพระสูตรทางพุทธศาสนาชื่อ "สัทธรรมปุณฑริกสูตร" รวมทั้งเผยแพร่เรื่องราวอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม จิตรกรรม ภาษาและศิลปะแขนงต่าง ๆที่งดงามโดยร้อยเรียงเรื่องราวผ่านเส้นทางสายไหมที่เป็นหนึ่งใน "มรดกโลก"
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่าสำหรับนิทรรศการดังกล่าวได้จัดแสดงโบราณวัตถุและคัมภีร์เก่าแก่ทางพระพุทธศาสนา อาทิ รูปปั้นพระกุมารชีวะ 1 ใน 2 รูปที่มีในโลก และจัดแสดงคัมภีร์และภาพจำลอง ได้แก่ สัทธรรมปุณฑริกสูตรภาษาสันสกฤต คัมภีร์ภาษาบาลี คัมภีร์คานธารี และภาพวาดปวงเทพเทวาเหินเวหาในหมู่ถ้ำมั่วเกา ตุนหวง หนึ่งในมรดกโลก เป็นต้น โดยที่ผ่านมานิทรรศการสัทธรรมฯ ได้จัดแสดงมาแล้วกว่า 28 แห่ง ใน 14 ประเทศและเขตการปกครองทั่วโลก อาทิ ฮ่องกง อินเดีย สเปน บราซิล อาร์เจนตินา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งการจัดนิทรรศการนี้ในประเทศต่างๆประสบความสำเร็จอย่างมาก
นายวีระ กล่าวด้วยว่า เมื่อมีการนำนิทรรศการนี้มาจัดแสดงในประเทศไทย จะทำให้คนไทยที่เข้ามาชมได้ศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดมนุษยนิยมแห่งการเคารพชีวิตมนุษย์ที่ปรากฎอยู่ในพระสูตรทางพระพุทธศาสนา "สัทธรรมปุณฑริกสูตร" เผยแพร่อย่างกว้างขวางในไทย รวมทั้งช่วยส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งคนดี มีคุณธรรม มีความปรองดองสมานฉันท์ รวมถึงเป็นการทำนุบำรุงศาสนาและเผยแพร่วัฒนธรรมอันดีงามของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจเข้าชมนิทรรศการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนวัฒนธรรม 1765 และสมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย โทร. 02 962 5777