กูรูทิสโก้เตือนตลาดหุ้นเสี่ยงปรับฐาน หลังสะท้อนภาพข่าวดีหมดแล้ว มองสินค้าโภคภัณฑ์จะเป็นปัจจัยฉุด

02 May 2017
กูรูทิสโก้ชี้ แม้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นแรงจากความเสี่ยงทางการเมืองที่ลดลงหลังการเลือกตั้งฝรั่งเศส แต่ก็เชื่อว่าตลาดน่าจะสะท้อนภาพข่าวดีไปหมดแล้ว จึงมีความเสี่ยงที่ตลาดจะปรับฐาน จาก Valuation ของตลาดที่อยู่ในระดับสูง และการย่อตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจกระทบต่อเงินเฟ้อและกำไรในตลาดหุ้น
กูรูทิสโก้เตือนตลาดหุ้นเสี่ยงปรับฐาน หลังสะท้อนภาพข่าวดีหมดแล้ว มองสินค้าโภคภัณฑ์จะเป็นปัจจัยฉุด

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr. Komsorn Prakobpol, Head of Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit: TISCO ESU) กล่าวว่า ตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นแรงในช่วงที่สัปดาห์ที่ผ่านมา ตามความเสี่ยงทางการเมืองในฝรั่งเศสที่ลดลง หลังนายEmmauel Macron ซึ่งมีนโยบายที่ค่อนข้างเป็นบวกกับตลาดและเป็นมิตรกับสหภาพยุโรป ได้ผ่านเข้าไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งรอบที่ 2 วันที่ 7 พ.ค.นี้ โดยโพลล่าสุดชี้ว่า นาย Macron ยังนำนาง Marine Le Pen ซึ่งเป็นฝ่ายขวาจัดและมีนโยบายต่อต้านสหภาพยุโรป อยู่ค่อนข้างขาด (60% ต่อ 40%) และส่วนต่างของความนิยมที่ราว 20% นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับความคาดเคลื่อนของโพลในอดีตที่สูงสุดประมาณ 10% ซึ่งชี้ว่านาย Macron มีโอกาสสูงมากที่จะชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี

เรามองว่าตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวขึ้นแรงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา น่าจะสะท้อนข่าวดีจากการเลือกตั้งฝรั่งเศสไปมากแล้ว และตลาดน่าจะมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานในระยะข้างหน้า เนื่องจาก Valuation ของตลาดที่อยู่ในระดับสูง โดยดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ซื้อขายที่ Forward P/E ประมาณ 18 เท่า ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่Dot-com Bubble ในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 รวมไปถึงตลาดหุ้นไทย เอเชีย และยุโรป ซึ่งซื้อขายที่ Forward P/E สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตแทบทั้งสิ้น จะมีเพียงตลาดหุ้นญี่ปุ่นเท่านั้นที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต

โดยปัจจัยลบซึ่งอาจจุดชนวนให้เกิดการปรับฐานของตลาดหุ้นในช่วงนี้ ได้แก่ แรงเทขายในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะเหล็ก ซึ่งราคาแร่เหล็กในตลาด Dalian Commodity Exchange ปรับตัวลดลงแรงต่อเนื่องราว 45% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และเริ่มกดดันให้โลหะอุตสาหกรรมอื่นๆ ปรับตัวลดลงตาม ประกอบกับราคาน้ำมันWTI ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงสัปดาห์นี้ จากที่เคยทรงตัวที่ระดับ 52-55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงต้นปี

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงในช่วงนี้อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเงินเฟ้อ และการขยายตัวของกำไรในตลาดหุ้น และอาจเป็นแรงกดดันให้ตลาดหุ้นโลกซึ่งซื้อขายที่ระดับ Valuation ค่อนข้างแพงมีความเสี่ยงที่จะปรับฐาน