วรากร เล่าในระหว่างที่นำชมกระบวนการเลี้ยงหมูว่า ก่อนจะมาเลี้ยงหมูเคยเป็นนักบัญชีของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ทำงานมาได้สักระยะก็เริ่มค้นหาความชอบของตัวเองและมีแนวคิดที่อยากจะทำธุรกิจของตัวเอง เขาพบว่าตัวเองชอบงานด้านการเกษตรมาตั้งแต่เด็กๆ จึงได้ลองศึกษาเรื่องการเลี้ยงหมูในรูปแบบโครงการฝากเลี้ยง หรือโครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรายย่อยเลี้ยงสุกรรุ่นพันธุ์ กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ
การเป็นนักบัญชีทำให้วรากรมองไปถึงรายได้ที่เกิดขึ้นจากอาชีพนี้ซึ่งเพียงพอสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ ที่สำคัญการเลี้ยงหมูกับซีพีเอฟที่แนะนำให้ใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วยในการผลิตนั้นทำให้ได้ผลผลิตที่ดี อัตราเสียหายต่ำ หมูโตเร็วน้ำหนักดี เนื่องจากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ถึงแม้ในช่วงแรกเริ่มต้องมีการลงทุนสูงกว่าเมื่อเทียบกับการเลี้ยงหมูในอดีตที่ยังเป็นโรงเรือนเปิดอยู่ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากผลลัพธ์ที่ได้แล้ว วรากรบอกว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน ปี 2556 เขาจึงตัดสินใจลงทุนสร้างฟาร์มหมูบนพื้นที่ของตัวเอง มีโรงเรือนมาตรฐาน 6 หลัง ความจุหมูรุ่นพันธุ์ 3,600 ตัว พร้อมทำระบบป้องกันโรคที่เหมาะสม มีจุดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคสำหรับยานพาหนะที่จะเข้าฟาร์ม การจัดเตรียมชุดฟาร์มเพื่อไม่ให้เชื้อจากภายนอกปะปนสู่ภายในได้
"แรกเริ่มเลี้ยงหมูไม่เป็น ก็เข้าไปฝึกกับทางบริษัทก่อนและเข้าไปดูงานในฟาร์มเพื่อนเกษตรกรในโครงการส่งเสริมฯวารินชำราบ ทำให้รู้ว่าเขามีเทคนิคอะไรบ้าง เลี้ยงอย่างไรถึงประสบความสำเร็จ เป็นลักษณะการถ่ายทอดประสบการณ์ให้กัน ซึ่งผมมองว่าทำให้เกษตรกรรายใหม่อย่างผมมีความมั่นใจมากขึ้นไปอีก ว่าเราก็ต้องทำได้เหมือนกัน ตลอดเวลาการเลี้ยงซีพีเอฟก็มอบหมายให้ทั้งเจ้าหน้าที่สัตวบาลและสัตวแพทย์เข้ามาดูแลอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีที่ปรึกษาที่ดีก็ทำให้เดินหน้าอาชีพได้อย่างมั่นคง ตอนนี้บริษัทยกให้เป็นเกษตรกรต้นแบบในเขตอำเภอสว่างวีระวงศ์ และฟาร์มก็เปิดให้เกษตรกรรายใหม่เข้ามาเรียนรู้ตลอด" วรากรบอกอย่างภูมิใจ
สำหรับเทคโนโลยีที่ฟาร์มวรากรนำมาใช้ อาทิ โรงเรือนระบบปิดแบบอีแวปที่สามารถควบคุมสภาพอากาศภายในให้เหมาะสมกับหมูในแต่ละช่วงอายุ เมื่อหมูอยู่สบายก็ไม่ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา หมูกินอาหารได้มากจึงเติบโตได้ดีตามศักยภาพของสายพันธุ์ ขณะเดียวกัน ที่นี่ยังใช้ระบบควบคุมพัดลมอัตโนมัติที่ช่วยระบายอากาศในโรงเรือนได้ดี ทำให้มีอากาศเพียงพอ หมูจึงมีสุขภาพดี นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมส้วมน้ำสำหรับหมูที่ทำให้สุขอนามัยของหมูดีขึ้น เนื่องจากภายในคอกเลี้ยงสะอาดตลอดเวลา มีจุดกินอาหาร มีที่สำหรับนอน และส้วมน้ำซึ่งเป็นที่ขับถ่ายอย่างเหมาะสม วรากรยังมีแนวคิดปรับเปลี่ยนระบบการให้อาหารเป็นระบบอัตโนมัติในอนาคตด้วย
ที่สำคัญฟาร์มแห่งนี้ยังใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน ด้วยการจัดทำระบบบำบัดของเสียด้วยไบโอแก๊สที่นอกจากจะช่วยลดกลิ่นและแมลงวันแล้ว ยังได้แก๊สชีวภาพใช้แปลงเป็นไฟฟ้าใช้ในฟาร์มและมีปุ๋ยหลังการบำบัดที่มีแร่ธาตุเหมาะสมกับพืช ซึ่งวรากรนำมาเป็นปุ๋ยให้กับพืชผัก และต้นไม้ที่ปลูกไว้จนเขียวครึ้มทั้งฟาร์ม ในบ่อพักน้ำหลังการบำบัดเขายังเลี้ยงปลาไว้เพื่อเป็นทั้งตัวชี้วัดคุณภาพน้ำและยังจับมาเป็นอาหารและจำหน่ายเป็นรายได้เข้าฟาร์มอีกทางหนึ่ง รวมถึงการแบ่งปันน้ำที่มีแร่ธาตุที่สมบูรณ์ให้กับชาวชุมชนนำไปรดไร่มันสำประหลังและยางพาราด้วย ฟาร์มนี้จึงนับเป็นตัวอย่างฟาร์มที่มีการบริหารจัดการน้ำอย่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"บางคนอาจจะมองว่าการลงทุนกับเทคโนโลยีจะกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ผมมองว่าผลที่จะได้รับนั้นคุ้มค่ากว่าเพราะผลผลิตที่ได้เมื่อเทียบกับการไม่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยนั้นต่างกันจริงๆ ผมอยากให้เพื่อนเกษตรกรเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อให้การผลิตหมูของเราพัฒนาขึ้น ที่สุดแล้วคนที่จะได้ประโยชน์ก็คือผู้บริโภคและเกษตรกรเองที่จะได้รายได้มากขึ้นต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง" วรากรบอกทิ้งท้าย
"ฟาร์มวรากร" จึงเป็นตัวอย่างของเกษตรกร 4.0 ที่ประสบความสำเร็จจากการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยังไม่ลืมที่จะดูแลชุมชนไปพร้อมกันด้วย./
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit