ซีพีเอฟ ร่วมสนับสนุน SDGs ประกาศ 11 เป้าประสงค์ กลยุทธ์ CSR สู่ความยั่งยืน ตั้งเป้าบรรลุปี 2563

02 May 2017
ซีพีเอฟ เดินหน้าขับเคลื่อนกลยุทธ์ CSR สู่ความยั่งยืน ภายใต้ 3 เสาหลัก "อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่" ที่สอดคล้องไปกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals (SDGs) พร้อมกำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ระหว่างปี 2559 – 2563 จำนวน 11 เป้าประสงค์ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก ความท้าทายในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนความคาดหวังที่สูงขึ้นของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ซีพีเอฟ ร่วมสนับสนุน SDGs ประกาศ 11 เป้าประสงค์ กลยุทธ์ CSR สู่ความยั่งยืน ตั้งเป้าบรรลุปี 2563

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟในฐานะผู้นำด้านธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ภายใต้วิสัยทัศน์ "ครัวของโลก" มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ความยั่งยืน โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา บริษัทได้ทบทวนการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย ตระหนักดีถึงบทบาทของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมและผลักดันวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก จึงได้ผสาน SDGs เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายกลยุทธ์ CSR สู่ความยั่งยืน ร่วมสนับสนุน 9 เป้าหมายจาก 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยบริษัทฯ มุ่งมั่นนำความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ ซึ่งสอดคล้องกับขีดความสามารถและศักยภาพของบริษัท มาร่วมสนับสนุน อันนำมาสู่การกำหนด "เป้าหมาย 2563" 11 เป้าประสงค์ ซึ่งถือเป็นทิศทางความยั่งยืนที่สำคัญของซีพีเอฟ ภายใต้กลยุทธ์ CSR สู่ความยั่งยืน 3 เสาหลัก "อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่" สำหรับก้าวต่อไปนับจากนี้ นายวุฒิชัย กล่าว

โดยการดำเนินงานในปี 2560 ภายใต้เสาหลัก "อาหารมั่นคง" เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยตลอดกระบวนการ บริษัทตั้งเป้าหมาย ไม่มีเหตุการณ์เรียกคืนสินค้า และมุ่งเน้นสุขโภชนาการเพื่อสุขภาพและสุขภาวะที่ดีแก่ผู้บริโภค โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ (New Product Development: NPD) ร้อยละ 15 (เป้าหมาย ร้อยละ 30 ในปี 2563) นอกจากนี้เดินหน้าส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน 206,000 คน มีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้หรือทักษะในด้านการผลิตอาหารและ/หรือด้านการบริโภคที่ถูกหลักโภชนาการและปลอดภัย (เป้าหมาย 300,000 คน ในปี 2563)

เสาหลัก "สังคมพึ่งตน" ด้านการพัฒนาคู่ค้าให้เติบโตไปด้วยกัน ในปี 2560 มีเป้าหมาย คือ ร้อยละ 30 ของคู่ค้าธุรกิจหลักในกลุ่มวัตถุดิบอาหารสัตว์ กลุ่มเครื่องปรุงและกลุ่มบรรจุภัณฑ์ ได้รับการตรวจประเมินด้านความยั่งยืน (เป้าหมาย 100% ในปี 2563) ขณะเดียวกัน วัตถุดิบหลักทางการเกษตรต้องผ่านการจัดหาจากแหล่งผลิตที่รับผิดชอบและตรวจสอบย้อนกลับได้ ด้วยเป้าหมาย ร้อยละ 40 ของกากถั่วเหลืองมาจากการจัดหาอย่างรับผิดชอบ (เป้าหมาย 100% ในปี 2563)

ส่วนด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน ปีนี้จะส่งเสริมอาชีพและคุณภาพชีวิตเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงกลุ่มเปราะบางจำนวน 33,000 ราย (เป้าหมาย 58,000 คน ในปี 2563)

เสาหลัก "ดินน้ำป่าคงอยู่" ด้านการบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปี 2560 ตั้งเป้าหมายอย่างต่อเนื่องจากปี 2559 ลดปริมาณการใช้พลังงาน (เป้าหมายลดร้อยละ 5 ในปี 2563) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (เป้าหมายลดร้อยละ 5 ในปี 2563) ลดปริมาณการนำน้ำมาใช้ (เป้าหมายลดร้อยละ 10 ในปี 2563) ลดปริมาณของเสีย (เป้าหมายลดร้อยละ 30 ในปี 2563) ต่อหน่วยการผลิต เทียบกับปีฐาน 2558 และการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ป่าชายเลนและป่าต้นน้ำในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศ รวมถึงพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการ โดยมีเป้าหมายการดำเนินการในปี 2560 รวมทั้งสิ้น 5,816 ไร่ ผ่านโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง (เป้าหมาย 9,261 ไร่ ในปี 2563)

นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังมุ่งมั่นปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง และเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานต่อสาธารณชน ผ่านการจัดทำรายงานความยั่งยืนประจำปี ซึ่งจัดทำเป็นปีที่ 6 ภายใต้การจัดทำรายงานตามแนวทางของ Global Reporting Initiative (GRI-G4) และนับเป็นปีที่ 3 ที่บริษัทได้รับเชิญเข้าร่วมรับการประเมิน DJSI ประจำปี 2560 ซึ่งถือเป็นดัชนีชี้วัดความยั่งยืนในระดับโลก ที่นักลงทุนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ การเข้าร่วมเป็นภาคีในข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ(UNGC) ถือเป็นการประกาศเจตนารมณ์และคำมั่นของบริษัทในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยบริษัทมีการเปิดเผยข้อมูลครอบคลุมประเด็นความยั่งยืนที่กำหนดผ่านรายงานความยั่งยืน ซึ่งในปี 2559 สามารถยกระดับการรายงานในระดับ Advance Level จากปีที่ผ่านมาเปิดเผยในระดับ Active Level.