นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย รองประธานกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) คนที่ 1 ในฐานะประธานการประชุมเพื่อวิเคราะห์สรุปผลการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายสร้างความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 ภายใต้แนวคิด "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" ซึ่งได้มุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดตามนโยบายรัฐบาลและคำสั่ง คสช. รวมถึงกำหนดมาตรการและแนวทางในการลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ ควบคู่กับการรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน โดยจากการรวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงระหว่างวันที่ 11 – 17 เม.ย.60 เกิดอุบัติเหตุ 3,690 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 390 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,808 คน สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ 1,589 ครั้ง และขับรถเร็ว 1,028 ครั้ง ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 3,230 คัน และรถปิกอัพ 260 คัน สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว 146 ราย และเมาแล้วขับ 124 ราย ซึ่งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประจำปี 2560 ได้ถอดบทเรียนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนน พบว่า แม้จำนวนครั้งและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง แสดงให้เห็นว่าดัชนีความรุนแรงของอุบัติเหตุลดลงและการดำเนินมาตรการควบคุมความเสี่ยงได้ผลในระดับหนึ่ง รวมถึงยังมีปัจจัยสำคัญจากความร่วมมือของผู้ใช้รถใช้ถนนในการปฏิบัติตามกฎหมายจราจร อีกทั้งการกวดขันวินัยจราจรอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน จึงทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง อย่างไรก็ตาม แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กวดขันการดื่มแล้วขับเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 21 แต่จากสถิติอุบัติเหตุทางถนน พบว่า การดื่มแล้วขับยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34 เป็นร้อยละ 43 และเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 เท่า (ร้อยละ 32) นอกจากนี้ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ และเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เนื่องจากไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ซึ่งจากข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดมาตรการลดอุบัติเหตุและบังคับใช้กฎหมายเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล แต่การขาดวินัยในการใช้รถใช้ถนนและพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ ศปถ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานในระบบการศึกษาของกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนนที่มีวินัยจราจร และรณรงค์ให้ประชาชนใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมและป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ และนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน
นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 พบว่า กลไกการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมพฤติกรรมผู้ใช้รถใช้ถนนและจัดการความเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการไม่สวมหมวกนิรภัย การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย การขับรถเร็ว และการเมาแล้วขับ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงได้ประสานให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งถอดบทเรียนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลรายพื้นที่ ค้นหาปัจจัยเสี่ยง และประเมินผลการดำเนินงาน โดยเฉพาะมาตรการที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุ ให้ยึดเป็นแนวทางในการทำงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งกำหนดมาตรการเสริมและวางแผนงานในภาพรวมที่สอดคล้องกับสถานการณ์อุบัติเหตุในพื้นที่ ในส่วนของปัญหาอุปสรรคที่เป็นจุดอ่อนของการดำเนินงาน ให้จังหวัดปรับปรุงและพัฒนาแนวทางให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบาย แนวทาง และมาตรการในการลดความสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่เหมาะสมต่อไป
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการ ศปถ. ได้ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนถอดบทเรียนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 พร้อมนำข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประจำปี 2560 มาจัดทำร่างข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนน ใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การปรับปรุงมาตรการเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย ด้วยการนำเทคโนโลยีและอุปกรณ์สนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการทบทวนและปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันควบคู่กับการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน พร้อมนำนโยบาย "ประชารัฐ" มาเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความปลอดภัยทางถนนในระดับพื้นที่ ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนกำหนดมาตรการองค์กรและจัดตั้งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางถนน (จปถ.) ในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อีกทั้งรณรงค์การใช้อุปกรณ์นิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์อย่างเข้มข้นในทุกพื้นที่ 2) การปรับปรุงระบบการบริหารจัดการ โดยกำหนดให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น พร้อมทั้งปรับปรุงระเบียบและแนวทางการปฏิบัติงานให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม การออกประกาศควบคุมการจัดงานรื่นเริงภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงดำเนินการปรับปรุงระบบฐานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นเอกภาพ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นชุดเดียวกัน นอกจากนี้ ให้อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดชุดปฏิบัติการด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมและป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนนในพื้นที่ ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะได้นำข้อคิดเห็นจากที่ประชุมฯ รวบรวมเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมถึงประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางในการยกระดับความปลอดภัยทางถนน เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit