เพราะเป็นมือใหม่ที่เข้ามาทำโครงการเป็นปีแรก ทุกอย่างเลยดูเก้ๆ กังๆ ไปหมด แม้จะมีใจอยากทำก็ไปต่อไม่ได้ อภิสิทธิ ลัมยศ พี่เลี้ยงโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่านจึงนำเครื่องมือ "แผนที่ชุมชน" พาน้องวิเคราะห์สภาพพื้นที่ ค้นหาทุกข์และทุนของชุมชน เมื่อน้องๆ รู้แล้วว่าชุมชนมีของดีอะไร จึงใช้ "คำถาม" ชวนน้องคิดต่อว่า ถ้าทำโครงการนี้แล้วชุมชนจะได้อะไร ถ้าไม่ทำได้ไหม จนน้องรู้ด้วยตัวเองว่าถ้าพวกเขาไม่ทำโครงการนี้ ป่าชุมชนบ้านหัวนาก็คงจะกลายเป็นเขาหัวโล้นในที่สุดอภิสิทธิ์ บอกว่า กระบวนการค้นหาโจทย์โครงการสำคัญมาก เพราะถ้าน้องก้าวผิดตั้งแต่แรก ก็อาจทำให้การทำโครงการไม่สามารถเดินไปสู่จุดหมายปลายทางที่น้องอยากเห็นได้ พี่เลี้ยงหรือโคชต้องพาน้องคิดหาโจทย์ที่ใช่ให้ได้
เมื่อโจทย์ชัด การทำงานก็เริ่มต้นขึ้นที่หน่วยจัดการต้นน้ำพงษ์ ส่วนจัดการต้นน้ำ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าชุมชนต้นน้ำที่กลุ่มเยาวชนบ้านหัวนาวางแผนขึ้นไปสำรวจ โดยประสานงานขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ ผู้ใหญ่บ้าน และปราชญ์ชุมชนเป็นผู้นำทาง ด้วยมองว่าการเดินสำรวจป่าด้วยตัวเอง เป็นทางเดียวที่จะทำให้เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้เห็นสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับป่าของพวกเขา ด้วยความที่เป็นการทำโครงการครั้งแรก การเดินป่าจึงสะเปะสะปะไปหมด ข้อมูลอะไรก็ไม่ได้มา รู้จักแค่พันธุ์ไม้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยพบเห็นบางชนิด ได้แค่ความสนุกสนานกับการพบปะเพื่อนฝูงเท่านั้น
อภิสิทธิ์ บอกว่า เห็นอาการว่าหากไม่เข้าไปช่วยเหลือ โครงการต้องจบแน่ๆ จึงขอความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่มีความรู้เรื่องของป่าเข้ามาเป็นวิทยากรในการจัดทำชุดความรู้ให้น้อง
"พี่บี-สภาภรณ์ ปันวารี เจ้าหน้าที่จากศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่าประเทศไทย เข้ามาช่วยจัดกิจกรรมสำรวจป่าอย่างง่าย ด้วยวิธีการสุ่มพื้นที่สำรวจป่าด้วยวิธีการตีกรอบพื้นที่ การบันทึกข้อมูลพันธุ์ไม้ที่พบในแต่ละโซน การสำรวจต้นไม้ด้วยการวัดความกว้างความยาวและการวัดเส้นรอบวง ฯลฯ" นิ เล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้ พร้อมบอกว่า ยิ่งมีโอกาสลงไปสัมผัสกับป่าชุมชนของตนเองมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้พวกเขาได้พบเจอและเห็นคุณค่าของป่าชุมชนที่ตนเองมีอยู่มากขึ้น และยังทำให้ได้องค์ความรู้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับสำรวจป่าไว้ใช้ทำงานต่อไป ถือเป็นการติดอาวุธทางปัญญาชุดใหม่ให้กับพวกเขา โดยเฉพาะการวางเป้าหมายในการเก็บข้อมูล และการให้วิธีการที่ถูกต้องและเป็นระบบ ช่วยสร้างกระบวนการคิดและกระตุ้นให้พวกเขาตั้งคำถามต่อสิ่งที่พบเห็น ที่นำไปสู่การค้นหาคำตอบ กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ทำให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะการคิดและวิเคราะห์ด้วยตัวเอง
จากกลุ่มเยาวชนที่เห็นเพียงปัญหาของป่า แต่ไร้ทิศทางและเครื่องมือในการทำโครงการ เมื่อผ่านกระบวนการหนุนเสริมจากพี่เลี้ยงอยู่บ่อยครั้ง ทำให้พวกเขาเกิดความมั่นใจและเห็นแนวทางในการฟื้นฟูป่าหัวนามากขึ้น
เมื่อรู้แล้ว่า "ป่า" สำคัญกับชุมชนถิ่นเกิด จนเกิดเป็นความรักและหวงแหนผืนป่า พวกเขาจึงคิดส่งต่อความรู้และความรักไปสู่เพื่อนเยาวชนคนอื่นด้วยการต่อยอดโครงการในปีที่สองคือโครงการเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าหัวนาที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างจิตสำนึกรักป่าชุมชนให้กับน้องๆ ในระดับประถมศึกษาทั้งในและนอกชุมชน ทีมงานได้หยิบชุดเครื่องมือที่ได้เรียนรู้เรื่องสำรวจป่าอย่างง่ายมาออกแบบกิจกรรมพาน้องรู้จักป่าชุมชน กระบวนการเรียนรู้ในครั้งนั้นไม่เพียงแต่สร้างแรงกระเพื่อมให้เยาวชนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงเห็นความสำคัญของป่าเท่านั้น แต่ยังกระตุกให้ผู้ใหญ่ในชุมชนบ้านหัวนาหันมาฟื้นฟูป่าอย่างจริงจัง
นี่อาจจะเป็นหนึ่งกรณีศึกษาที่เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า หากเราทำให้คนในชุมชนรักและเห็นคุณค่าของชุมชนที่ตนเองอาศัยได้ การพาตัวเองออกนอกพื้นที่ก็จะลดลง คนในชุมชนก็จะหันมาช่วยกันดูและและรักษาชุมชนของตนเองให้กลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง เมื่อดินดี น้ำดี คนในชุมชนก็ไม่จำเป็นต้องออกนอกพื้นที่เพื่อไปหารายได้มาจุนเจือครอบครัวอีกต่อไป
HTML::image(