พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประกอบด้วยพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งเป็นการประกอบพระราชพิธีวันแรกที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2560 และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ โดยประกอบพระราชพิธีในวันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม 2560ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
ทั้งนี้ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการซึ่งกระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและส่งเสริม บำรุงขวัญเกษตรกร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปีอันถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นฤดูกาลแห่งการทำนา
การจัดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีนี้ ฤกษ์การไถหว่านอยู่ในระหว่างช่วงเวลา 08.19 – 08.59 น. ผู้ทำหน้าที่เป็นพระยาแรกนาปี 2560 คือ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวนันทินี ทองคงเหย้า นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร และนางสาวฉมาพันธ์ สุพรมอินทร์ นักวิชาการตรวจสอบบัญชีปฏิบัติการ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวนันทวัน สุวรรณสถิตย์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กรมชลประทาน นางสาวพรพิมล ศิริการ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร คู่เคียงมีจำนวน 16 ราย และผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล โดยพระโคเพิ่ม มีความสูง 158 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 226 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 193 เซนติเมตร อายุ 7 ปี ส่วนพระโคพูล มีความสูง 156 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 237 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 204 เซนติเมตร อายุ 7 ปี พระโคสำรอง ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง
ในวันประกอบพระราชพิธีนั้น จะได้มีการพยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศ พระยาแรกนาได้ตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงทายหยิบผ้านุ่งแต่งกาย ซึ่งแต่ละผืนล้วนมีความหมายแตกต่างกันออกไป ได้แก่ หากหยิบได้ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ หยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี หยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่ม จะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่
ในการนี้ นายสัตวแพทย์ธนิตย์ เอนกวิทย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ถวายรายงานการพยากรณ์ เสี่ยงทายผ้านุ่งของพระยาแรกนา และพระโคกินเลี้ยง
นอกจากนี้พราหมณ์จะเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ที่ตั้งเลี้ยงพระโค ซึ่งผลเสี่ยงทาย คือ หากพระโคกิน ข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี พระโคกินถั่วหรืองาพยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี พระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี และหากพระโคกินเหล้าพยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
อนึ่ง วันพระราชพิธีพืชมงคลนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติให้เป็น "วันเกษตรกร" ประจำปีอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดให้มีการคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2560 เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีรายชื่อดังนี้
เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2560 จำนวน 16 สาขาอาชีพ คือ
1) อาชีพทำนา ได้แก่ นายภาณุสิทธ์ มั่นคง จังหวัดเพชรบูรณ์
2) อาชีพทำสวน ได้แก่ นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ จังหวัดกระบี่
3) อาชีพทำไร่ ได้แก่ นายวีนัด สำราญวงศ์ จังหวัดบุรีรัมย์
4) อาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ จ่าสิบโทสุทิน ทองเอ็ม จังหวัดสุโขทัย
5) อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นางสาวบัวไข เติมศิลป์ จังหวัดชัยภูมิ
6) อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นางสาววาสนา กุญชรรัตน์ จังหวัดราชบุรี
7) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายกรเกียรติ พรมจวง จังหวัดกำแพงเพชร
8) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายสุทธิ มะหะเถา จังหวัดชลบุรี
9) อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นางสาวนภาภรณ์ จิวะสุรัตน์ จังหวัดปทุมธานี
10) อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นางพิกุล กิตติพล จังหวัดระยอง
11) สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นางสุดใจ ชมพูมี จังหวัดพิษณุโลก
12) สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายสมหมาย ธรรมกิจ จังหวัดตรัง
13) สาขาการใช้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม ได้แก่ นายมงคล ธราดลธนสาร จังหวัดมหาสารคาม
14) ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายเสมอ หาริวร จังหวัดอุบลราชธานี
15) สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายชาศร สาริโพธิ์ จังหวัดอุทัยธานี
16) สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ นางสมหมาย หนูแดง จังหวัดลพบุรี
สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2560 จำนวน 13 กลุ่ม คือ
1) กลุ่มเกษตรกรทำนา ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำนานาสนุ่น จังหวัดเพชรบูรณ์
2) กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนป่าคลอก จังหวัดภูเก็ต
3) กลุ่มเกษตรกรทำไร่ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำไร่วังชะพลู จังหวัดกำแพงเพชร
4) กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อบ้านสี่เหลี่ยมเจริญ จังหวัดบุรีรัมย์
5) กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มประมงเรือเล็กเก้ายอด จังหวัดระยอง
6) กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาบ้านด่านใหม่ จ.อุบลราชธานี
7) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรท่าศาลา จังหวัดจันทบุรี
8) กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 เต่างอยพัฒนาศึกษา จ.สกลนคร
9) กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านสะเดาซ้าย จังหวัดนครสวรรค์
10) สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานบ้านดอนรัก จังหวัดปัตตานี
11) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านจารย์ จ.สุรินทร์
12) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวอื่น ๆ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ตำบลแวงใหญ่ จ.ขอนแก่น
13) วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน จังหวัดน่าน
สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2560 จำนวน 7 สหกรณ์ คือ
1) สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด จังหวัดตรัง
2) สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมพิมาย จำกัด จังหวัดนครราชสีมา
3) สหกรณ์นิคม ได้แก่ สหกรณ์นิคมเนินมะปราง จำกัด จังหวัดพิษณุโลก
4) สหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางในเขตปฏิรูปที่ดินชากังราว จำกัด จังหวัดกำแพงเพชร
5) สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขนครราชสีมา จำกัด จังหวัดนครราชสีมา
6) สหกรณ์ร้านค้า ได้แก่ ร้านสหกรณ์โรงพยาบาลพัทลุง จำกัด จังหวัดพัทลุง
7) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบ้านป่าชิง จำกัด จังหวัดสงขลา
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2560 จำนวน 4 สาขา คือ
1) นายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย
2) นายยวง เขียวนิล เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง
3) นายจำนงค์ บุญเลิศ เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น
4) นายอุทัย บุญดำ เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit