ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า กยท. ให้ความสำคัญในการสร้างมาตรฐานการซื้อขายไม้ยางในราคาที่เหมาะสม และเป็นธรรมทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยในแต่ละปีจะมีเกษตรกรชาวสวนยางจะต้องโค่นยาง เพื่อดำเนินการปลูกใหม่อาจปลูกแทนด้วยยางพารา หรือไม้เศรษฐกิจอื่นหลายราย ซึ่ง กยท. ได้กำหนดเป้าหมายการโค่นยางปีละกว่า 400,000 ไร่ เพื่อให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพในการนำไปแปรรูปในอุตสาหกรรมต่างๆ ต่อไป รวมทั้ง เป็นการบริหารจัดการอุปสงค์ อุปทานของยางพาราในระบบด้วย ฉะนั้น ยางพาราจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมากเพราะไม่ใช่เพียงจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรขณะปลูกเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างรายได้ในการโค่นไม้ยางได้อีกด้วย โครงการบริหารจัดการไม้ยางพาราของการยางแห่งประเทศไทย จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สำคัญ จะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยาง สามารถขายไม้ยางพาราได้ในราคาที่เหมาะสมและยุติธรรม เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรชาวสวนยางที่ต้องโค่นยาง เพื่อดำเนินการปลูกแทนใหม่จะประสบกับปัญหาการขายไม้ยางเป็นอย่างมาก ทั้งการผูกขาดจากผู้ประกอบการที่รับซื้อไม้ยาง ซึ่งมีไม่กี่ราย การถูกกดราคา การรับซื้อแต่ไม่หมดทุกส่วน เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งไม้ยางพาราเป็นไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมายในการนำไปแปรรูป และส่งออก สามารถเพิ่มรายได้ให้กับชาวสวนยาง รวมถึงผู้ประกอบกิจการโรงไม้ต่างๆ ได้ ดังนั้น การลงนามความร่วมมือระหว่างการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย จะเป็นสองหน่วยงานหลักที่ร่วมกันสนับสนุนทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการโครงการบริหารจัดการไม้ยางพาราเพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางสามารถขายไม้ยางพาราได้ในราคาที่เป็นธรรมและเหมาะสม ซึ่งเป็นการร่วมพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมไม้ยางพาราแบบครบวงจร จะสามารถสร้างผลประโยชน์สูงสุดต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมไม้ยางพาราด้วย"ความร่วมมือในครั้งนี้ จะดำเนินงานบนพื้นฐานความเข้าใจอันดีต่อกัน และประสานผลประโยชน์ในการพัฒนา พร้อมร่วมมือกันแก้ไขปัญหา อุปสรรค และร่วมดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้บรรลุตามข้อตกลงเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของเกษตรกรชาวสวนยางและประเทศชาติโดยรวม"
ดร.ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า การยางแห่งประเทศไทย พร้อมสนับสนุน ส่งเสริม ให้เกษตรกรรับรู้ข้อมูลและประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการ และเป็นหน่วยงานที่รับสมัครเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมไม้ยางพาราที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ตลอดจน สนับสนุนข้อมูลพื้นฐานของเกษตรกร ข้อมูลสวนยางพาราที่ประสงค์จะโค่นเพื่อปลูกแทน ตลอดจนข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์โดยความยินยอมของเกษตรกรที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ
ด้าน นายนิกร ลิขิตหวังพาณิชย์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย กล่าวว่า การร่วมมือกันระหว่าง กยท. และสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรกร ซึ่งช่วยให้เกษตรกรได้รับทราบว่าสินค้าของตนขายได้ในราคาเท่าไร โดยไม่ต้องผ่านตัวแทนหรือคนกลางที่จะเข้ามากดราคาแล้ว ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมก็สามารถทราบต้นทุนราคาวัตถุดิบ และปริมาณวัตถุดิบที่แน่นอนในการผลิต ลดปัญหาคนกลางที่เข้ามาปั่นราคาขึ้นลงได้ เพราะนอกจากอุตสาหกรรมไม้ยางแล้ว ยังมีอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนนำไม้ยางไปแปรรูปเป็นวู้ด พาเลท เป็นพลังงานเชื้อเพลิงซึ่งเป็นที่ต้องการมากในตลาดโลก จะส่งผลให้ไม้ยางพาราเป็นผลผลิตที่สามารถเพิ่มรายได้ให้กับประเทศชาติอย่างมหาศาล ทั้งนี้ องค์ความรู้ที่ กยท. ได้คิดสูตรในการคำนวณต้นทุนการผลิตจากนักวิชาการซึ่งถือได้ว่ามีความแม่นยำมากอยู่แล้ว ถือได้ว่างานนี้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ กยท. ที่เป็นประโยชน์อย่างสูงต่อธุรกิจอุตสาหกรรมไม้ยางพาราทั้งระบบ
"ทางสมาคมฯ จะส่งเสริม ให้ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมไม้ยางพาราและผู้ที่สนใจรับรู้ข้อมูล รวมไปถึงประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการ พร้อมจะเชิญชวนให้ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมไม้ยางพาราที่เป็นสมาชิก และเป็นเครือข่ายของสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย สมัครเข้าร่วมโครงการกับการยางแห่งประเทศไทยด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ สมาคมจะสนับสนุนประชาสัมพันธ์ข้อมูลวิชาการ ข้อมูลการกำหนดราคา ข้อมูลด้านการตลาด ตลอดจนข้อมูลอื่น ๆ ในธุรกิจอุตสาหกรรมไม้ยางพาราที่เป็นประโยชน์เพื่อดำเนินการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์แห่งข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ต่อไป" นายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย กล่าวทิ้งท้าย