รมว.เกษตรฯ ห่วงใยสถานการณ์พายุลูกเห็บพื้นที่ภาคเหนือ สั่งการให้ฝนหลวงฯ ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

09 May 2017
วันที่ 7 พฤษภาคม 2560 เวลา 12.00 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวง และการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศของประเทศไทยช่วงวันที่ 4-7 พฤษภาคม 2560 มีความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศ ประกอบกับบริเวณภาคเหนือที่ยังคงเกิดพายุฤดูร้อนในบางพื้นที่ ทำให้มีพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่า กับมีลมกระโชกแรง เกิดฝนตกหนักและลูกเห็บตกในพื้นที่ภาคเหนือ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงมอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ อย่างเร่งด่วน
รมว.เกษตรฯ ห่วงใยสถานการณ์พายุลูกเห็บพื้นที่ภาคเหนือ สั่งการให้ฝนหลวงฯ ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อยับยั้งความรุนแรงจากพายุลูกเห็บเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยมีพื้นที่เป้าหมาย ในการปฏิบัติการบริเวณตำบลยั้งเมิน อำเภอสะเมิง และตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้เครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 (Alpha Jet) หมายเลข 23135 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ และ สารฝนหลวงชนิดซิลเวอร์ไอโอไดด์ (AgI) จำนวน 37 นัด ตั้งแต่เวลา 14:32 – 15:04 น. รวมเวลาปฏิบัติการภารกิจยับยั้งลูกเห็บ 32 นาที พบว่า ไม่มีรายงานการเกิดลูกเห็บในช่วงเวลาปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการปฏิบัติการ ที่ช่วยยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บได้ ทั้งนี้ ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิด พายุลูกเห็บอยู่อย่างต่อเนื่อง และเตรียมพร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือทันทีเมื่อสภาพอากาศเหมาะสมอีกด้วย

นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร แปลงใหญ่ เติมน้ำในอ่างเก็บกักน้ำสำคัญทั่วทุกภูมิภาค และช่วยเหลือเกษตรกรจากการขอรับบริการฝนหลวง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงปฏิบัติการอยู่อย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยจากปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม – 6 พฤษภาคม 2560 มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 62 วัน 1,141 เที่ยวบิน (1,637.10 ชั่วโมงบิน) ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 983.30 ตัน พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์สำหรับภารกิจปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 353 นัด และภารกิจปฏิบัติการยับยั้งความรุนแรงพายุลูกเห็บ จำนวน 1,025 นัด มีจังหวัด ที่มีรายงานฝนตกรวม 55 จังหวัด และทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างสะสมรวม 202.37 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือควรหลีกเลี่ยงที่โล่งแจ้ง การอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา ที่ไม่แข็งแรงในขณะที่มีพายุฤดูร้อนไว้ด้วย และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารฝนหลวงได้ทุกวันที่เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

HTML::image( HTML::image(