นิทรรศการ “สัทธรรมปุณฑริกสูตร สารแห่งสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว” (The Lotus Sutra Exhibition - A Message of Peace and Harmonious Coexistence)

03 May 2017
สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทยร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม สถาบันปรัชญาตะวันออก และมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก จัดนิทรรศการทางประวัติศาสตร์และปรัชญาพุทธศาสนา ครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อส่งเสริมสังคมไทยสู่ความสมานฉันท์และสันติภาพ
นิทรรศการ “สัทธรรมปุณฑริกสูตร สารแห่งสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว” (The Lotus Sutra Exhibition - A Message of Peace and Harmonious Coexistence)

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ นายนวรัตน์ ชิโนมี ผู้อำนวยการสมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย นายฮิโรฟูมิ โคเซกิ เลขาธิการสถาบันปรัชญาตะวันออก และศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภามหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก แถลงข่าวความร่วมมือจัดนิทรรศการ "สัทธรรมปุณฑริกสูตร สารแห่งสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว"

นิทรรศการสัทธรรมปุณฑริกสูตรฯ นี้จัดทำขึ้นโดยสถาบันปรัชญาตะวันออก (The Institute of Oriental Philosophy) โดยความร่วมมือกับสมาคมโซคาสากล (Soka Gakkai International) เพื่อเผยแพร่แนวคิดแห่งสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวตามที่ปรากฏอยู่ในพระสูตรทางพุทธศาสนา โดยนิทรรศการนี้จัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2007 และได้จัดแสดงมาแล้วกว่า 28 แห่ง ใน 14 ประเทศและเขตการปกครองทั่วโลก ได้แก่ ฮ่องกง อินเดีย มาเก๊า สเปน เนปาล บราซิล ศรีลังกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย อาร์เจนตินา เกาหลีใต้ เปรู

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานการแถลงข่าว กล่าวถึงเป้าหมายของกระทรวงวัฒนธรรมในการร่วมจัดนิทรรศการนี้ว่า "กระทรวงวัฒนธรรม เป็นองค์กรหลักของรัฐที่มีวิสัยทัศน์มุ่งอนุรักษ์ สืบสาน และสร้างสรรค์วัฒนธรรม โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างรากฐานการพัฒนาสังคมที่เข้มแข็งและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยมีพันธกิจหลักประการหนึ่ง คือ การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ให้มีการรักษา สืบทอด และพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้น การนำนิทรรศการ "สัทธรรมปุณฑริกสูตร สารแห่งสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว" มาจัดแสดงที่ประเทศไทยนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนชาวไทยจะได้ศึกษา เรียนรู้ แลกเปลี่ยน และทำความเข้าใจแนวคิดแห่งสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว ตามที่ปรากฏอยู่ในพระสูตรทางพุทธศาสนา "สัทธรรมปุณฑริกสูตร" ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และยังเป็นการทำนุบำรุงศาสนาและเผยแพร่วัฒนธรรมอันดีงามอีกทางหนึ่ง เพื่อส่งเสริมให้สังคมไทยเข้าใจแนวคิดมนุษยนิยม อันเป็นแนวคิดที่สนับสนุนความเท่าเทียมกันของชีวิตมนุษย์ทุกคน สิ่งนี้สอดคล้องกับกรอบทิศทางยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และยุทธศาสตร์ด้านวัฒนธรรมระยะ 20 ปี ของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมีเป้าหมายประการหนึ่ง คือ การผลักดันสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งคนดี มีคุณธรรมจริยธรรม เอื้ออาทร และมีความปรองดองสมานฉันท์เพิ่มมากขึ้น"

นายวีระกล่าวเสริมว่า "ในปีนี้เราฉลองความสัมพันธ์ 130 ปี ไทย-ญี่ปุ่น การนำนิทรรศการนี้มาเผยแพร่ จึงถือเป็นความสำคัญในระดับองค์กร ระดับประชาชน และผูกพันถึงความสัมพันธ์ระดับรัฐบาลที่มีมาอย่างยาวนาน ภายในงานนิทรรศการสัทธรรมปุณฑริกสูตรฯ จะได้เห็นทั้งภาพและพระสูตรที่ได้รวบรวม คัดลอกทั้งตัวอักษรและภาพประกอบ อย่างวันนี้ที่นำมาเผยแพร่เป็นภาพวาดปวงเทพเทวาเหินเวหา ผมได้เห็นภาพวาดจริงที่ผนังถ้ำตุนหวงมาแล้ว ถือได้ว่าคัดลอกมาได้เหมือนของจริงมาก และภาพที่คัดลอกโดยแท้จริงจากฝีมือของศิลปินสมัยโบราณ เป็นฝีมือชั้นยอดเยี่ยม

เชื่อมั่นว่างานนิทรรศการนี้ จะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ และทำให้แนวคิดมนุษยนิยมแห่งการเคารพชีวิตมนุษย์ แผ่ขยายความเข้าใจอย่างกว้างขวางในสังคมไทย สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาด้านคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงามในหมู่ประชาชน อีกทั้งยังส่งเสริมให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ด้านวัฒนธรรมระยะ ๒๐ ปี เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด"

นายนวรัตน์ ชิโนมี ผู้อำนวยการสมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการนำนิทรรศการนี้มาจัดแสดงในประเทศไทยว่า สมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทยเป็นองค์กรพุทธศาสนาที่ก่อตั้งในประเทศไทยมาแล้ว 56 ปี ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันเป็นเครือข่ายหนึ่งของสมาคมโซคาสากล ซึ่งมี ดร. ไดซาขุ อิเคดะ เป็นประธาน กิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมสันติภาพ วัฒนธรรม และการศึกษา ผ่านการสร้างสายสัมพันธ์อันดีงามระหว่างประชาชนทุกคน โดยได้ร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด ในการจัดกิจกรรมให้แก่สังคมในด้านวัฒนธรรม สันติภาพ และการศึกษา ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของนิทรรศการสัทธรรมปุณฑริกสูตรนี้ว่าเป็นนิทรรศการที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากหลายประเทศทั่วโลก มีความโดดเด่นในการแสดงแนวคิดมนุษยนิยม อันเป็นแนวความคิดแห่งการเคารพในศักยภาพของชีวิตมนุษย์แต่ละคน ๆ อันนำมาซึ่งสันติภาพและความกลมเกลียวในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ และจะสามารถทำให้ผู้ที่เข้าชม เข้าใจและให้ความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวและสันติภาพได้อย่างแท้จริง อีกทั้งเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาผ่านมิติทางวัฒนธรรม จิตรกรรม ภาษา และศิลปะแขนงต่าง ๆ ที่เดินเรื่องราวตลอดเส้นทางสายไหม 'หนึ่งในมรดกโลก' ทางสมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทยจึงได้ขอความอนุเคราะห์สถาบันปรัชญาตะวันออก นำนิทรรศการนี้มาจัดแสดงที่ประเทศไทย"

นายฮิโรฟูมิ โคเซกิ เลขาธิการสถาบันปรัชญาตะวันออก ในฐานะผู้ร่วมจัดงานนิทรรศการสัทธรรม ปุณฑริกสูตร ซึ่งได้จัดแสดงมาแล้วมากถึง 28 แห่งทั่วโลก กล่าวถึงเนื้อหาภายในงานนิทรรศการว่า "นิทรรศการสัทธรรมปุณฑริกสูตรนี้ ผู้ชมจะได้พบกับบอร์ดแสดงเนื้อหาประมาณ 50 บอร์ด และสิ่งของที่จัดแสดงอีกประมาณ 160 ชิ้น โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ถือกำเนิดขึ้นในประเทศอินเดียและแผ่ขยายไปในอาณาเขตของเอเชียอย่างกว้างขวาง นิทรรศการนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของสัทธรรมปุณฑริกสูตร พระสูตรที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายจากประชาชนในหลายยุคสมัย โดยมีต้นฉบับที่มาจากสถานที่ต่าง ๆ ในเอเชีย ซึ่งถูกแปลเป็นหลายภาษา นอกจากนี้ ยังมีการสื่อความหมายให้สังคมเข้าใจถึงสารแห่งศักดิ์ศรีของชีวิต สันติภาพ และการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวในสมัยปัจจุบัน รวมถึงการแนะนำสัทธรรมปุณฑริกสูตรผ่านภาพวาดบนผนังหมู่ถ้ำมั่วเกา ตุนหวง และภาพวาดประกอบที่ง่ายต่อการเข้าใจ ตลอดจนการแนะนำสิ่งของเก่าแก่ล้ำค่าที่เกี่ยวกับสัทธรรมปุณฑริกสูตรที่ได้รวบรวมมาจากสถาบันต่าง ๆ ทั่วโลก"

สถาบันปรัชญาตะวันออก (The Institute of Oriental Philosophy) ก่อตั้งขึ้นโดย ดร. ไดซาขุ อิเคดะ ประธานสมาคมโซคาสากล เพื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับปรัชญาตะวันออกทั่วไป และแนวคิดปรัชญาทางพุทธศาสนา โดยดำเนินการวิจัยแบบสหวิทยาการและบูรณาการ ภารกิจหลักประการหนึ่งของสถาบันปรัชญาตะวันออก คือ การวิจัยสัทธรรมปุณฑริกสูตร และการตีพิมพ์ต้นฉบับอันล้ำค่าของสัทธรรมปุณฑริกสูตรที่เก็บรักษาอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของโลกโดยความร่วมมือกับสมาคมโซคาสากล องค์กรพุทธศาสนาที่มีสมาชิกมากกว่า 12 ล้านคน ใน 192 ประเทศและเขตการปกครอง

ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภา มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก กล่าวถึงการเป็นผู้ร่วมจัดว่า "การจัดแสดงนิทรรศการสัทธรรมปุณฑริกสูตรครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนชาวไทยจะได้ศึกษาและทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อคำสอนทางพุทธศาสนาได้อย่างครบถ้วนทุกมิติ ผ่านการนำเสนอข้อมูลหลักฐานที่ได้รวบรวมจากสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นสิ่งล้ำค่า ในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติที่หาชมได้ยากยิ่ง คนไทยอาจไม่ได้มีโอกาสได้เห็น เพราะรวบรวมมาจากหลายประเทศมาก เพราะฉะนั้นประชาชนที่สนใจเกี่ยวกับการศึกษาพุทธศาสนา หรือเรื่องราวการเผยแพร่พุทธศาสนา หรือพระสูตรที่แตกต่างออกไป ถ้าได้มาดูจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ขอเชิญชวนประชาชนคนไทยมาร่วมชมนิทรรศการสัทธรรมปุณฑริกสูตร เพื่ออิ่มเอมใจไปกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันล้ำค่าของพุทธศาสนา ชื่นชมกับสมบัติของมนุษยชาติที่ตกทอดมาหลายยุคหลายสมัย และสัมผัสกับประสบการณ์อีกมิติหนึ่งในเนื้อหาของพระสูตรทางพุทธศาสนาไปด้วยกัน"

นิทรรศการ "สัทธรรมปุณฑริกสูตร สารแห่งสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว" จัดแสดงระหว่างวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 – 28 มิถุนายน 2560 เวลา 10.00 – 19.00 น. ณ สมาคมสร้างคุณค่า ในประเทศไทย สำนักงานใหญ่ (ถนนติวานนท์) ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.sgt.or.th/lotus-sutra-exhibition/

นิทรรศการ “สัทธรรมปุณฑริกสูตร สารแห่งสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว” (The Lotus Sutra Exhibition - A Message of Peace and Harmonious Coexistence) นิทรรศการ “สัทธรรมปุณฑริกสูตร สารแห่งสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว” (The Lotus Sutra Exhibition - A Message of Peace and Harmonious Coexistence) นิทรรศการ “สัทธรรมปุณฑริกสูตร สารแห่งสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว” (The Lotus Sutra Exhibition - A Message of Peace and Harmonious Coexistence)